‘เกรียงไกร-สมโภชน์’ ชิงประธาน ส.อ.ท. คะแนนเสียงต่างจังหวัดชี้ขาด 'ผู้ชนะ'

‘เกรียงไกร-สมโภชน์’ ชิงประธาน ส.อ.ท. คะแนนเสียงต่างจังหวัดชี้ขาด 'ผู้ชนะ'

ศึกชิงประธาน ส.อ.ท.ระอุ “สมโภชน์” ประกาศลงสมัครประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ “เกรียงไกร” เผยไม่มีปัญหาหากมีผู้สมัครเข้าชิงเก้าอี้ผู้นำระบุอยู่ที่สมาชิกตัดสินใจเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสามารถร่วมงาน “สุพันธุ์” ชี้ผู้นำได้รับการคัดเลือกต้องหลอมรวมสมาชิกให้เป็นหนึ่ง

KEY

POINTS

  • เลือกตั้ง ส.อ.ท. วาระปี 2567-2569 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.2567 โดยกรรมการ ส.อ.ท. 3 ส่วน จะมีสิทธิลงคะแนนเลือกประธาน
  • “สมโภชน์” ประกาศลงสมัครประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ แข่งกับ “เกรียงไกร” ขณะที่ “สุพันธุ์” ชี้ผู้นำได้รับการคัดเลือกต้องหลอมรวมสมาชิกให้เป็นหนึ่ง
  • "เกรียงไกร" ประธาน ส.อ.ท. ระบุ การมีผู้สมัครเพิ่มอีกไม่มีปัญหา แต่มีการสอบถามถึงธรรมเนียมปฎิบัติ 2 ปี บวก 2 ปี ย้ำ รอฟังว่าจะมีอะไรนอกเหนือจากตรงนี้หรือไม่
  • "สุพันธุ์" ย้ำ สมัครประธาน ส.อ.ท.ไม่ถึงขั้นขัดแย้ง มีกติกาให้เลือกตั้งทุก 2 ปี หากมีผู้เสนอตัวมาแข่งขันถือเป็นเรื่องดี หากคนเก่าทำงานดีก็คงไม่มีคนเสนอตัวแข่ง

การเลือกตั้งกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วาระปี 2567-2569 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.2567 โดยกรรมการ ส.อ.ท.จะมีสิทธิลงคะแนนเลือกประธาน ส.อ.ท.วาระปี2567-2569 โดยกรรมการ ส.อ.ท.ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 

1.กรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง 

2.กรรมการแต่งตั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม 

3.กรรมการแต่งตั้งจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด

ตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ถือว่ามีบทบาทในแวดวงธุรกิจ โดยเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านการเสนอนโยบายให้กับรัฐบาล รวมทั้งเข้าไปมีบทบาทในการเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

ปัจจุบัน “นายเกรียงไกร เธียรนุกูล” เป็นประธาน ส.อ.ท.วาระ 2565-2567 ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 1 โดยในภาวะปกติมีธรรมเนียมให้ประธาน ส.อ.ท.ได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ รวม 4 ปี แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติและมีการยกเว้นธรรมเนียมดังกล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้นายเกรียงไกร ยังคงเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย แต่ได้มีการเสนอตัวจากสมาชิกอีก 1 กลุ่ม คือ “นายสมโภชน์ อาหุนัย” รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และที่ได้เปิดตัววันที่ 29 ก.พ.2567

การเสนอตัวของนายสมโภชน์ ได้รับการยืนยันจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท.ว่า เป็นผู้สนับสนุนเพราะเห็นศักยภาพนายสมโภชน์ ที่เป็นคนมีความตั้งใจ สนับสนุนธุรกิจ เห็นความสำคัญของเอสเอ็มอี และได้ทำงานในตำแหน่งรองประธาน ส.อ.ท. มาถึง 2 สมัย

นอกจากนี้ นายสุพันธุ์ และนายสมโภชน์ มีจุดเริ่มต้นทางธุรกิจคล้ายกันที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีมาก่อน จากนั้นสร้างธุรกิจจนเติบโตหลักหมื่นล้าน

แหล่งข่าว ส.อ.ท.กล่าวว่า การเสนอตัวลงชิงประธาน ส.อ.ท.สร้างความประหลาดใจให้สมาชิกพอสมควร เพราะนายเกรียงไกร เพิ่งครบวาระที่ 1 และกำลังเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.ในวาระที่ 2

สำหรับผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท.จะต้องได้รับคะแนนสนับสนุนจากกรรมการ ส.อ.ท.ข้างมาก ซึ่งกรรมการจากการเลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งการหาเสียงจะให้ความสำคัญจากคะแนนเสียงต่างจังหวัด ซึ่งทำให้ผู้ที่ดูแลสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้ทำงานใกล้ชิด โดยปัจจุบันนายเกรียงไกร เป็นผู้รับผิดชอบประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมด้วย

นอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท.จะต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกหรือบริษัทย่อยกระจายในต่างจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีคะแนนเสียงของตัวเองในการลงคะแนนเลือกกรรมการ ส.อ.ท. 

“เกรียงไกร” ชี้สมาชิกท้วงถึงธรรมเนียมปฎิบัติ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การมีผู้สมัครเพิ่มอีก 1 คน ไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่มีผู้สอบถามเข้ามา คือ การเลือกทั้งประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และประธานคลัสเตอร์ มีธรรมเนียมปฎิบัติที่เป็น 2 ปี บวก 2 ปี ซึ่งต้องรอฟังว่าจะมีอะไรนอกเหนือจากตรงนี้หรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากให้มองว่าเป็นการแตกแยกภายใน ส.อ.ท.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเราทุกคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พร้อมรับฟังหมด คนส่วนใหญ่พูดว่าควรปฎิบัติเป็นธรรมเนียม ต้องเข้าใจว่าธรรมเนียมไม่ใช่กฎหมาย ไม่ได้มีบทลงโทษ แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าการดำรงตำแหน่งอย่างน้อย 4 ปี เหมาะสมกว่า เพราะ 2 ปีสั้นไป แค่ออกนโยบายยังไม่ทันได้ทำอะไรเวลาก็หมดลงแล้ว 

ดังนั้น 2 ปี ต่อจากนี้จะเป็นปีที่เก็บเกี่ยวผลงานที่จะสำเร็จ และคิดว่าโครงการที่ทำอยู่กำลังจะดอกออกผล ซึ่งสุดท้ายก็ต่องให้สมาชิกเป็นผู้เลือก และหากสมาชิกมองว่ายังมีประโยชน์ผลงานเข้าตาก็เลือกเป็นประธาน ส.อ.ท.อีกสมัย

“หากผู้ลงสมัครหรือคนเห็นต่างมองว่าเรื่องเร่งด่วนหรือนโยบายที่เขาเห็นว่าจำเป็นต้องทำตอนนี้เราก็ฟัง ถ้าดีแม้ว่าใครจะมาเป็นก็เดินหน้านโยบายที่ดีเราก็พิจารณาได้ เรามีกฏ เกณฑ์ และระเบียบ การที่ทุกคนมาจากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เราจะอยู่กันได้ไม่ใช่ว่าประธานจะสั่งคนนั้นคนนี้ แต่อยู่ได้เพราะมีกติกาที่ตกลงกันไว้ หากใครไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ตามขั้นตอนของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งการทำงานของตนนั้นมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนตลอดในทุกวัน” นายเกรียงไกร กล่าว

“สุพันธุ์” เผยวัดกันที่ภาวะผู้นำเชื่อมสัมพันธ์สมาชิก

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การสมัครประธาน ส.อ.ท.ครั้งนี้ถือว่าใช่ถึงกับการขัดแย้ง เพราะการเลือกตั้งได้มีกติกาให้จัดเลือกตั้งทุก 2 ปีอยู่แล้ว โดยหากมีผู้เสนอตัวมาแข่งขันถือเป็นเรื่องดี และจะได้ดูว่าคนที่เข้าร่วมแข่งขันเป็นอย่างไร และประธานคนเก่าผลงานดีหรือไม่ เหมือนรอบที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“ไม่อยากให้มองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าต้องต่ออีกสมัย ตอนที่ผมสมัครประธานก็ไม่คิดว่าเป็นทำเนียมปฏิบัติ เพียงแต่ไม่มีใครลงแข่งขัน ซึ่งก็ไม่ได้ปิดกั้นใครหรือใครทำได้ดีกว่าก็ต้องปล่อย ถ้าตัวเลือกดีก็ต้องให้สมาชิกตัดสินเอง ไม่อยากให้เห็นเป็นวัฒนธรรม แต่ถ้าได้คนดีมาก็มีสิทธิ์เลือกให้อยู่ต่อ การแข่งขันจึงเป็นเรื่องดีแต่แข่งขันแล้วผู้ชนะรู้จักรวมทีมไม่ให้แตกแยกได้หรือเปล่าอันนี้สำคัญ”

อย่างไรก็ตาม หากคนเก่าทำงานดีก็คงไม่มีคนเสนอตัวมาแข่งขันที่ถือเป็นวัฒนธรรมที่เคยเป็นมาแต่ถ้าคนเก่าทำงานแล้วทุกคนคิดว่าไม่อะไรชัดเจนหรือไม่ค่อยตอบรับโจทย์สมาชิกก็จะมีผู้เสนอแข่งขันจึงมองว่าเป็นเรื่องดี

ทั้งนี้เหมือนปี 2557 ที่ลงสมัครและมีผู้ลงแข่งขันด้วยแต่ไม่มีการแตกแยก เพราะมีการยอมรับว่าทำงานแล้วมีความเรียบร้อยจึงมีสมาชิกต้องการให้ทำต่อ แต่ถ้าทำงานแล้วทุกคนมีความกังวลและมีข้อกังขาเมื่อครบสมัยก็เป็นเรื่องธรรมดา

“ต้องดูตัวเลือกว่าทั้งคู่ใครมีความสามารถมากกว่ากัน การทำธุรกิจเหนือกว่ากันและเก่งกว่ากัน การจะเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมต้องรู้เรื่องดีขนาดไหน และมีจิตกุศลที่จะช่วยคนตัวเล็กหรือไม่ อันนี้สำคัญ มองปัญหาและมีประสบการณ์ทำงานและประสบความสำเร็จแล้วมีจิตกุศลที่จะช่วยและไม่เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งจึงขึ้นกับสมาชิกที่จะเลือก”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผู้กังขาอยากขึ้นมาแข่งขันกับประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบัน ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ใครชนะต้องรวมสมาชิกกลับมาไม่ให้มีความแตกแยกหรือผู้ชนะเลือกแต่พวกพ้องตัวเอง

ขณะที่ในอดีตเคยมีปัญหาแตกแยก โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความเห็นไม่ตรงกันจึงไม่ใช่ประเด็นที่เกิดจากการเลือกตั้ง แต่เป็นความต้องการให้ประธานส.อ.ท.ลาออกเลยและมีการประท้วงและเมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติ

“การเลือกตั้งจึงอยู่ที่คนชนะ ตอนผมชนะคนออกไปน้อยมาก เลือกตั้งครั้งนี้ควรเป็นตัววัดความเชื่อมสัมพันธ์ของสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง"