ประเทศไทยวิกฤติหรือไม่? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ประเด็นถกเถียงที่เป็นวังวนระหว่างรัฐบาลและนักวิชาการในขณะนี้ก็คือ ประเทศไทยวิกฤติจริงหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะอาศัยคำว่าวิกฤตินี้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นการเร่งด่วนเพื่อมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
คำว่าวิกฤติของรัฐบาลกับนักวิชาการไม่ตรงกัน คำว่า “วิกฤติของนักวิชาการ” มีความหมายเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาคและวิกฤติทางการเงินในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยเคยมีภาวะช็อกมาแล้วหลายครั้ง
เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หากอิงจากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น จีดีพี เงินเฟ้อ ดุลการชำระเงิน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มาประกอบการพิจารณา ก็จะเห็นว่าประเทศไทยคงยังไม่วิกฤติ
เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จีดีพีเราติดลบถึง 6% แต่ตอนนี้จีดีพีของเราค่อยๆ เขยื้อนขึ้นมาเป็นบวกแล้ว เพียงแต่ยังต่ำอยู่มาก และหากการท่องเที่ยวบูมขึ้นเช่นเดียวกับปี 2562 เราก็ยิ่งจะห่างไกลกับคำว่าวิกฤติทางการเงินมากขึ้น เฉพาะแค่เวลาเดือนครึ่ง (1-31 ม.ค.ถึง 15 ก.พ.2567) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโกยเงินเข้ามาถึง 2.6 แสนล้านบาทแล้ว หรือคิดเป็นจำนวนเกือบครึ่งของวงเงินที่รัฐบาลคิดจะกู้
ส่วนคำว่า “วิกฤติของรัฐบาล” นายกฯ เศรษฐา คือ วิกฤติในกระเป๋าเงินของคนไทยระดับกลางและระดับรากหญ้า โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือมีเงินเดือนประจำ วิกฤตินี้เกิดมาตั้งแต่ช่วงที่เราเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว
ในช่วงขณะนั้น ประชาชนรายได้ตกต่ำ บ้างก็ตกงาน และเมื่อเราผ่านพ้นโควิด-19 แล้วก็วุ่นวายกับการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณออกช้าไปอีก
อย่าลืมว่างบประมาณแผ่นดินนี้มีขนาดใหญ่มากถึง 3 ล้านล้านบาท มากกว่าเงินที่รัฐบาลอยากจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ถึง 6 เท่า แต่กว่างบประมาณใหม่จะสามารถใช้ได้เต็มที่ก็เป็นเดือน พ.ค.2567
ดังนั้น กระแสเงินที่เคยวนเวียนอยู่ในประเทศก็ลดลงไป สำหรับโครงการที่จะสามารถใช้จ่ายได้ตอนนี้ก็จะเป็นโครงการต่อเนื่องเท่านั้น นับว่าเป็นวิกฤติในกระเป๋าสตางค์ของประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะความล่าช้าของงบประมาณ
ยิ่งไปกว่านั้นกำลังซื้อของคนระดับกลางก็เริ่มหมดแล้ว เพราะคนที่มีรายได้ระดับกลางระดมทุนของตนเองไป “เที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมาหลายรอบจนไม่มีเงินเหลือไว้ให้ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยอีกต่อไปแล้ว ทำให้ดีมานด์ของคนไทยส่วนใหญ่ซบเซาลงไปมาก
ที่จริงประเทศไทยของเรามีวิกฤติเชิงโครงสร้างมานานแล้ว อย่างที่เราทราบกันก็คือว่าอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีมีอัตราตกต่ำที่สุดในอาเซียน 5 ประเทศหลัก จนกระทั่ง normal low เป็นลักษณะประจำของเรา และขณะนี้เราเข้าสู่ยุค permacrisis หรือวิกฤติถาวรตามกระแสโลก อันเนื่องมาจากผลพวงของสงคราม ภัยธรรมชาติ และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั้งโลก
ที่จีดีพีของเราโตช้าก็เพราะว่าต่างชาติที่เคยมาลงทุนในประเทศไทยเป็นลำดับ 1 เมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ต่างก็ย้ายหนีไปลงทุนที่อื่น เช่น ประเทศเวียดนามกับอินโดนีเซียแล้ว (แต่ขณะนี้ก็มีแสงสีทองผ่องอำไพอยู่เบื้องหลังก้อนเมฆสีดำ คือการลงทุนต่างประเทศได้เริ่มกลับเข้ามาใหม่ เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทำให้ประเทศทางตะวันตกย้ายฐานการผลิตจากจีน)
อีกทั้งตลาดหุ้นของไทยก็มีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดในเอเชีย และมีความผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะภาวะการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจไม่นิ่งเช่นนี้ จะมีต่างชาติประเทศไหนที่อยากจะมาลงทุนในตลาดหุ้นในเมื่อประกาศผ่านสื่อไปทั่วโลกแล้วว่าอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว
สินค้าส่งออกภาคอุตสาหกรรมของเราก็เป็นสินค้าแบบเดิมๆ ที่ไม่เร้าใจลูกค้าอีกต่อไปแล้ว เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ การผลิตสินค้าเดิมๆ ของเราก็ผลิตด้วยต้นทุนแรงงานที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามซึ่งมีค่าแรงและยังมีค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าด้วย แม้แต่สินค้าประจำชาติของเราคือข้าว ก็ถูกเวียดนามและอินเดียแย่งตลาดไปแล้ว โชคดีที่ภัยแล้งในต่างประเทศทำให้ราคาข้าวปีนี้ยังไม่ตกต่ำลงไป
นอกจากนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นโครงสร้างที่พึ่งพาต่างชาติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพึ่งพาประเทศจีน เมื่อเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เศรษฐกิจเศรษฐกิจไทยก็พลอยเงียบเหงาไปด้วย
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็หมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือ แก้ไขปัญหาทางโครงสร้างไม่ใช่การแจกเงินแบบเทกระจาด การที่รัฐบาลบอกว่าชาวบ้านเดือดร้อนมากนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะโครงสร้างอันเหลื่อมล้ำของเราทำให้บางคนอยู่สุขสบายมากไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่าง และ SME มีปัญหาเรื่องหนี้สินมาก ดูจากยอดหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยอดหนี้ที่เป็น NPL ของผู้ประกอบการรายเล็กหรือดูจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงกลับขายได้ดี แต่ราคาต่ำกับขายได้น้อย
เพราะปีก่อนเศรษฐกิจภาคครัวเรือนและเอกชนขยายตัวสูงกว่าจีดีพีมาก ก็พอจะอนุมานได้ว่าขยายตัวเกิดจากการกู้ การกระตุ้นดีมานด์จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงชั่วครู่ชั่วยามเหมือนไฟไหม้ฟางเท่านั้น
สิ่งที่รัฐบาลทุกคณะพยายามแก้มักเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาโครงสร้าง ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเราสะสมเพิ่มพูนเป็นวงจรอุบาทว์ที่แก้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการแก้ปัญหาโครงสร้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งในทางการเมือง
อีกทั้งโครงสร้างการผลิต การค้า และการบริการล้วนเป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและเหลื่อมล้ำ เนื่องมาจากโครงสร้างอำนาจที่เอื้ออำนวยให้กับคนบางกลุ่มและกีดขวางคนส่วนใหญ่ออกไปจากโอกาสการทำมาหากินบนลู่แข่งที่เสมอกัน
คนที่ทำมาหากินได้อย่างร่ำรวยในประเทศนี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีเส้นมีสายต่อถึงคนในรัฐบาล ได้สัมปทานจากรัฐหรือได้โครงการที่รัฐเอื้ออำนวยและสนับสนุนให้เป็นพิเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรายใหญ่ก็โตไปเรื่อยๆ ส่วนรายเล็กแม้ธุรกิจจะออกดอกออกผลในตอนเริ่มแรก ต่อมาไม่นานก็จะค่อยๆ เฉาไป เพราะไม่สามารถไต่ระดับขึ้นไปได้
ที่จริงรัฐบาลสามารถใช้เงินงบประมาณที่มีอยู่ปรับให้เป็นการแจกเงินแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทางโครงสร้างได้ ยกตัวอย่างเช่น เราเพิ่งจะจ่ายเงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อไร่เพื่อช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว
ทำไมเราไม่จ่ายให้ชาวนา 1,500 บาทต่อไร่ถ้าเกี่ยวข้าวโดยไม่เผา จะทำให้ปัญหา PM2.5 ลดลงด้วย แทนที่จะไปแจกเงินให้เด็กอายุแค่ 16 ปี ตั้ง 10,000 บาท ซึ่งอาจจะนำไปซื้อยาเสพติด ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไปแว้นไปซิ่ง แทนที่จะแจกเป็นคูปองสำหรับไปพัฒนาทักษะวิชาชีพใหม่ๆ เช่น ทักษะดิจิทัลและ AI
หรือความคิดของคนในรัฐบาลที่บอกว่าชาวบ้านจะเอาเงินคนละ 10,000 บาทมารวมกัน 5 คนเพื่อไปซื้อเครื่องจักรสำหรับวิสาหกิจชุมชนก็เป็นเรื่องที่ดี ก็ควรให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบรีบไปปฏิบัติได้ทันที
ล่าสุด ก็มีตัวเลขใหม่ออกมาว่าคนไทยมีไอคิวค่อนข้างต่ำ ประชากรในโลกปกติจะมีไอคิวระหว่าง 85-115 และไอคิวเฉลี่ยของประชากรโลกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยมีไอคิวเฉลี่ยที่ 88 แทบจะแตะขอบล่าง สูงกว่าลิงและปลาโลมาเล็กน้อย
ขืนปล่อยให้วิกฤติอยู่อย่างนี้อีกหน่อยก็ต้องไปค้าขายแข่งกับลิงและปลาโลมาแล้ว!