"ปานปรีย์" ประชุม "ก.พ.ร" มอบนโยบาย 6 ข้อ ราชการหนุน "IGNITE Thailand" นายกฯ
"ปานปรีย์" ย้ำความสำคัญการขับเคลื่อนเป้าหมาย IGNITE Thailand ของนายกรัฐมนตรี เร่งแก้ไขปัญหาระดับประเทศแบบบูรณาการ สร้างต้นแบบจังหวัดเมืองคาร์บอนต่ำ และเล็งดึงภาคเอกชนร่วมเป็นกลไกรับรองมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว
วันนี้ 1 มีนาคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการใช้กลไกการพัฒนาระบบราชการสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย IGNITE Thailand เช่น การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล การปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค การเปิดให้ภาคส่วนอื่นเข้ามา
มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศทั้งในรูปแบบเครือข่ายการดำเนินการร่วมกันและการรับถ่ายโอนงานจากภาครัฐ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ก.พ.ร. เสนอ ก.พ.ร. ออกแนวทางสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนเป้าหมาย IGNITE Thailand ของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ได้มีการพิจารณากลไกตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน (Joint KPIs) ที่หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือกันแบบบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในปี 2568 ได้กำหนดไว้ 6 ประเด็น ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำทั้งระบบ
- รายได้จากการท่องเที่ยว
- รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP
- การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 และ
- การพัฒนาสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในระดับเวทีโลก ซึ่งจะทำให้เกิดผลที่ดีต่อประชาชน เช่น การขับเคลื่อน
เรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ในปี 2566 สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยในปี 2568 มีเป้าหมายจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.8 ล้านล้านบาท
การบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น จะเร่งเดินหน้าสร้าง "สระบุรี ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อทดลองขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าคาร์บอน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐแบบเปิดที่ให้ประชาชน ภาคเอกชน และ
ภาคส่วนอื่น เข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศกำลังเผชิญ
อีกประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญในการประชุมวันนี้ คือ การปรับบทบาทภาครัฐโดยการถ่ายโอนภารกิจบางอย่างให้ภาคส่วนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการแทน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดย ก.พ.ร. ได้พิจารณาขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจในหลายประเด็น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีแผนจะให้ภาคเอกชนเป็นกลไกรับรองมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น มาตรฐานบริการอาหาร มาตรฐานบริการ
ในสถานประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มาตรฐานการให้บริการในสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก
ทั้งนี้ นายปานปรีย์กล่าว ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้การแก้ไขปัญหา ประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" ซึ่งการเดินหน้าของนโยบายและกลไกดังกล่าว ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างประเทศไทยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ