ครม.ไฟเขียว ข้อตกลง ‘อาเซียน – ออสเตรเลีย’ ยกระดับความสัมพันธ์ทุกมิติ
ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีจำนวน 2 ฉบับให้นายกฯลงนามในการประชุมร่วมในวันที่ 6 มี.ค.ครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกมิติ กระชับความร่วมมือเศรษฐกิจ การเมือง และสนับสนุนการเจรจาสันติเพื่อลดข้อพิพาทในภูมิภาค
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 มี.ค.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอโดยมีสาระสำคัญคือ
ทั้งนี้ในการเดินทางเยือนออสเตรเลียของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 4 – 6 มี.ค.มีกำหนดการเข้าประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลียสมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ โดยมีเอกสารผลลัพธ์ฯ การประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย จำนวน 2 ฉบับ ที่จะต้องลงนามเห็นชอบได้แก่ ร่างวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลีย หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ร่างวิสัยทัศน์ฯ) และร่างปฏิญญาเมลเบิร์น หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่ออนาคต (ร่างปฏิญญาเมลเบิร์นฯ)
โดย ครม.เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับและจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
1.ร่างวิสัยทัศน์ฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียต่อเนื่องจากช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลางในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยใช้การเจรจาด้วยสันติวิธี เพื่อธำรงรักษาสันติภาพ ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนแสดงความมุ่งมั่นต่อความเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และมีผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของมิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีความสนใจร่วมกัน และวิสัยทัศน์เชิงบวก
โดยอาเซียนและออสเตรเลียจะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และจะเร่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สามารถแข่งขันและร่วมกันรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความยากจน โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยการแบ่งปันระหว่างกันที่ยุติธรรมครอบคลุม และเท่าเทียม เพื่อให้สามารถเสริมสร้างการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎ ระเบียบ หลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะส่งเสริมความร่วมมือและการปฏิสัมพันธ์ในเวทีที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อเกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีความใกล้ชิดมากขึ้น
กระทรวงการต่างปรเทศรายงานครม.ว่าออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ในสถานะคู่เจรจากับอาเซียน(ปี2517)และได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย เพื่อฉลองวาระครบรอบ 40 ปี (ปี 2557) ซึ่งในปีนี้ (ปี 2567) เป็นโอกาสครบรอบความสัมพันธ์50ปีออสเตรเลียจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์นออสเตรเลียโดยการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ เพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมดังกล่าว ดังนี้
2.ร่างปฏิญญาเมลเบิร์นฯ มีสาระสำคัญหลายประเด็นได้แก่
1.) 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน – ออสเตรเลีย โดยยินดีต่อความสำเร็จของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา และยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านของอาเซียน - ออสเตรเลีย ต่อไป
ความเคารพซึ่งกันและกันต่อหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค การไม่แทรกแซงและความเป็นอิสระทางการเมืองของทุกชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในกฏบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค และมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติ
2.) การปกป้องความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค
โดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาคและพหุภาคีในการส่งเสริมความร่วมมือสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ รับทราบถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ ในการส่งเสริมภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ให้ความสำคัญกับทะเลจีนใต้ในฐานะที่เป็นทะเลแห่งสันติภาพ การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ประณามการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
ให้ความสำคัญกับการเจรจาโดยสันติอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และกรณีสถานการณ์ในยูเครน
3.) การนำมาซึ่งอนาคตที่รุ่งเรือง การดำเนินงานร่วมกันในการส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น การขยายการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ให้ความสำคัญของการค้าเสรีและตลาดที่เปิดกว้าง
4.) การส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืน อาเซียนและออสเตรเลียมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตระหนักถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
5.) กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การมีส่วนร่วมของโครงการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา กีฬา ศิลปะ (เช่น โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเสวนาระหว่างวัฒนธรรม
6.) การมีอนาคตร่วมกัน โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกันและการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในอนาคต
ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ประโยชน์ที่จะได้รับ : ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์และสานต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย และไทยกับออสเตรเลีย โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค เสถียรภาพ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการสร้างสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความเชื่อมโยงในภูมิภาค การรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ และการสนับสนุนการปฏิบัติตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก ต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศรายงานด้วยว่าร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย