กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดึงสถิติศูนย์รวมนมดิบ 9 เดือนทำMOUปัดปั้นข้อมูลเท็จ
กรมส่งเสริมสหกรณ์แจงข้อกล่าวหาสร้างข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบสหกรณ์โคนมเกินจริง หวังแสวงหาประโยชน์ ชี้การกำหนดตัวเลขปริมาณนม เพื่อทำ MOU นมโรงเรียนแต่ละปี คำนวณจากการรวบรวมนมโคค่าเฉลี่ย 9 เดือน ซึ่งผ่านการรับรองจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศแล้ว
ตามที่ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานสถานการณ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย และปัญหาการทุจริตในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวได้พาดพิงถึง“กรมส่งเสริมสหกรณ์” กล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทุจริตนมโรงเรียน สร้างข้อมูลตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบอันเป็นเท็จ โดยรายงานปริมาณน้ำนมดิบมากกว่าความเป็นจริงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมทั้งมีการนำบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปใช้จนเกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ นั้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักของคณะอนุกรรมการบริหารนมทั้งระบบ ภายใต้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และขั้นตอนการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายน้ำนมโค และวิเคราะห์ปริมาณน้ำนมโคที่จะนำมาจัดทำ MOU ในแต่ละปี เพื่อใช้เป็นหลักประกันการซื้อขายน้ำนมโคระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ช่วยดูแลให้มีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
สำหรับประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สร้างข้อมูลตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบอันเป็นเท็จ โดยตั้งใจรายงานปริมาณน้ำนมดิบให้มากกว่าความเป็นจริงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์นั้น คิดว่าอาจเป็นความเข้าใจผิด ถึงหลักคิดวิธีการที่กรมใช้กำหนดตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบในการจัดทำ MOU ของแต่ละปี เนื่องจากกรมใช้วิธีการพยากรณ์ปริมาณน้ำนมดิบ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการดูแลผู้ซื้อและผู้ขาย จึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบที่ได้มาจะมีค่าสูงหรือต่ำกว่าข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบ ณ ห้วงเวลาจริง
“สำหรับการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยมีฤดูกาลที่แม่โคนมจะให้น้ำนมดิบที่ต่างกันโดยจะให้นมมากในช่วงฤดูหนาวและจะให้น้ำนมน้อยในช่วงฤดูฝน และจะมีช่วงงดให้นม (Dry Cow) ดังนั้น ตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบในการจัดทำ MOU ในแต่ละปี จะเป็นการพยากรณ์ตัวเลขล่วงหน้า ที่ถูกคำนวณมาจากค่าเฉลี่ย 9 เดือนของปริมาณการรวบรวมน้ำนมโคที่ผู้ขายรายงานเข้ามาในระบบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งผ่านการรับรองจากผู้มีอำนาจของศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในรอบปี MOU ที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 9 เดือนของปริมาณน้ำนมโคที่ตรวจสอบจริงในพื้นที่โดยกรมปศุสัตว์
จากนั้นจะนำข้อมูลสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รวมถึงรายงานการขายจากผู้ประกอบการมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย โดยข้อมูลที่ได้ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานวิเคราะห์และติดตาม คณะอนุกรรมการบริหารนมทั้งระบบ และ Milk Board
ซึ่งทุกกระบวนการจะมีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนมทุกภาคส่วน เช่น ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนองค์กรเกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม เข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ เมื่อได้ตัวเลขที่แน่นอนแล้วจึงจัดให้มีการลงนามใน MOU ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยสมัครใจ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก Milk Board แล้ว กรมจึงแจ้งผลการจัดทำ MOU ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายทราบและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ MOU ที่กำหนด รวมถึงแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และนำ MOU ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น
เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสิทธินำเข้านมผง หรือใช้ประกอบการตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำนมดิบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การนำผลการจัดทำ MOU ไปใช้ประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการใช้ภายใต้หลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดในแต่ละวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่กำกับดูแล”