กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลุยตรวจนอมินีภูเก็ต

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลุยตรวจนอมินีภูเก็ต

กรมพัฒนาธุรกิจ จับมือดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลุยตรวจสอบธุรกิจต้องสงสัยเป็นนอมินีจ.ภูเก็ตเร็วๆ นี้ 59 ราย บริษัท อีเลเฟนท์ฯ เจ้าของปางช้าง “เดวิดเตะหมอ” โดนด้วยเบื้องต้น พบไม่ขัดพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กรมจะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมการท่องเที่ยว ฯลฯ ไปตรวจสอบกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 โดยจะตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เช่ารถตู้ โรงแรม รีสอร์ท อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และมีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 50% รวมถึงบริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด ของนายเดวิด จากสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างด้วย ซึ่งขณะนี้พบที่จะมีความเสี่ยงเป็นนอมินี 59 ราย

“กรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบนอมินีเป็นประจำอยู่แล้ว ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะบางธุรกิจเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ที่ทำไม่ได้เลย และบางธุรกิจ หากคนต่างด้าวจะทำธุรกิจในไทยต้องขออนุญาต แต่การมีนอมินีก็เพื่อเลี่ยงกฎหมาย โดยในปี 67 มีแผนตรวจสอบอย่างต่อเนื่องในจังหวัดท่องเที่ยว และกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอ ได้ประสานมาให้ลงไปตรวจที่จ.ภูเก็ต และพอดีมีข่าวของคุณเดวิด ก็จะเข้าไปตรวจสอบด้วย”

จากข้อมูลการจดทะเบียนของกรม พบว่า บริษัท อีเลเฟนท์ฯ ดำเนินธุรกิจเลี้ยงช้าง และเปิดให้ชม จดทะเบียนนิติบุตคลปี 60 มีกรรมการ 3 คน เป็นคนไทย 2 คน ถือหุ้นสัดส่วน 51% อีก 1 คนเป็นต่างชาติ ถือหุ้นไม่เกิน 49% ซึ่งไม่ขัดกับพ.ร.บ.ต่างด้าว แต่ก็จะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกด้วยเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ทั้ง 59 ราย หากพบต้องสงสัยเป็นนอมินี

สำหรับปี 67 กรมได้กำหนดแผนตรวจสอบนอมินีในจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี รวมถึงกรุงเทพฯ ในย่านสำเพ็ง คลองถม เยาวราช ฯลฯ โดยเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และมีคนคนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 50% ซึ่งมีทั้งหมด 26,019 ราย แต่จะตรวจสอบเชิงลึก เช่น เส้นทางการเงิน ฯลฯ, ทั้งหมด 419 ราย โดยในจำนวนนี้ ได้ขอข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการไปแล้ว 313 ราย

ส่วนผลการตรวจสอบนอมินีในปี 66 กรมได้ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงรวม 15,000 ราย และเมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ต้องตรวจสอบเชิงลึกประมาณ 400 ราย จึงได้ตรวจสอบต่อ จนพบพฤติกรรมน่าสงสัย และได้ส่งดำเนินคดีรวม 8 ราย ตามความผิดภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายที่กรมดูแลอยู่ แต่ผิดกฎหมายของหน่วยงานอื่น เช่น ตรวจคนเข้าเมือง หรือภาษี ก็ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อแล้ว

ทั้งนี้ กรณีการเป็นนอมินี ถือเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรรมการบริษัทก็จะมีความผิดด้วย