เจาะลึก ’หนี้ครัวเรือนไทย’ 16 ล้านล้าน ‘คนไทย’ เป็นหนี้อะไรกันบ้าง?

เจาะลึก ’หนี้ครัวเรือนไทย’ 16 ล้านล้าน ‘คนไทย’ เป็นหนี้อะไรกันบ้าง?

เจาะลึกรายละเอียดหนี้ครัวเรือนไทย 16.2 ล้านล้าน 90.9% ของจีดีพี คนไทยก่อหนี้ประเภทไหนกันบ้าง จับตาหนี้จำนำทะเบียนรถ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่อัตราดอกเบี้ยสูง ภาพรวมยังเพิ่มสวนทางคุณภาพสินทรัพย์ลดลง

หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ในระดับสูงมากมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการแถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/2566 และภาพรวมปี 2566 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหากคำนวณเป็นระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 90.9%  

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณามูลค่า สัดส่วน และอัตราการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน จำแนกตามวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน จะพบรายละเอียดดังนี้

1.สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท สัดส่วน 33.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

2.สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ มูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท สัดส่วน 17.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

3.สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ มีมูลค่ารวม 4.4 ล้านล้านบาท สัดส่วน 27.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยหนี้ส่วนนี้แบ่งเป็น

  • สินเชื่อส่วนบุคคล 3.1 ล้านล้านบาท สัดส่วน 19.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
  • สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ,สินเชื่อบัตรกดเงินสด) มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

  • สินเชื่อบัตรเครดิตมูลค่ารวม 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด  

เจาะลึก ’หนี้ครัวเรือนไทย’ 16 ล้านล้าน ‘คนไทย’ เป็นหนี้อะไรกันบ้าง?

ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่ออื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์ได้ มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ทั้งนี้ข้อมูลจาก สศช.ระบุว่าครัวเรือนไทยชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยในไตรมาสสามปี 2566 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงสุดของหนี้สินครัวเรือน ขยายตัว 4.6% ชะลอลงล็กน้อยจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน

เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ขยายตัว 0.2% ลดลงจาก 1% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถาบันการเงินยังคงกำหนดเงื่อนไขสัญญาการกู้ยืมที่เข้มงวด ตามคุณภาพสินเชื่อ ที่มีแนวโน้มด้อยลง ด้านสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นขยายตัวชะลอลงจาก 5.6% ของไตรมาส ที่ผ่านมาเป็น 5.4% จากการชะลอตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิต

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงินหรือนำไปชำระหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย

 

คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภท

นอกจากนี้คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสสาม ปี 2566 พบว่ายอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71%ในไตรมาสก่อน อีกทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง เมื่อพิจารณาตามประเภทสินเชื่อ พบว่าคุณภาพสินเชื่อยังด้อยลงทุกประเภท โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.24% และ 3.34% ตามลำดับ

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์ที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2.05% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.1% นอกจากนี้ หากพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน (SMLs) พบว่าภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 - 30,000 คันต่อเดือนจากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน