บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง เป็นโอกาสลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
บอนด์ยีลด์ที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 กลับพลิกมาขยับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 0.47% และ 0.40% ตามลำดับ
เราได้เดินทางเข้าสู่ปี 2024 มากว่า 2 เดือนแล้ว หากพิจารณาผลกำไรในตลาดหุ้นก็ถือได้ว่า 2024 เป็นปีที่ดีของการลงทุนกันตั้งแต่ต้นปีเลยทีเลย โดยดัชนี MSCI All Country World ปรับตัวขึ้นได้ถึงราว 5% (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2024) นำโดยตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นที่เคยเป็นม้านอกสายตานักลงทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราคากลับพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 35 ปี หนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า ตามมาด้วยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ทำจุดสูงสุดใหม่ หนุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง
ท่ามกลางตลาดหุ้นที่เดินหน้าต่อได้ดีจากปีที่แล้ว ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้กลับยังไม่ไปไหน บอนด์ยีลด์ที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 กลับพลิกมาขยับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 0.47% และ 0.40% ตามลำดับ จากการที่ตลาดปรับความคาดหวังต่อระยะเวลาและระดับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จากเดิมที่คาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้ง รวม 1.25% ในปีนี้ และการลดครั้งแรกจะเกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมในเดือนมีนาคม เป็นการประเมินว่า FED จะลดดอกเบี้ยเพียง 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน (อ้างอิงจากตลาด FED Fund Futures) หลังจากคณะกรรมการ FED หลายท่าน ออกมาบอกว่าจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายแม้จะปรับลดลงแล้ว สะท้อนได้จากดัชนี CPI เดือนมกราคม ที่ +3.1% YoY ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +3.4% แต่ยังสูงกว่าคาดการณ์ที่ +2.9%
ถึงแม้ว่า FED อาจจะลดดอกเบี้ยช้าหรือน้อยกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ แต่ในระยะข้างหน้า ทิศทางดอกเบี้ยจะยังคงเป็นแนวโน้มขาลง ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะแสดงถึงโอกาสที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากทั้ง 2 ส่วน คือ 1) รายได้ดอกเบี้ย (Interest income) ที่ปัจจุบันสูงกว่าอดีตมาก และ 2) กำไร (Capital gain) จากราคาตราสารหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยตลาดลดลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศต้องอาศัยฐานข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงลึกจึงควรลงทุนผ่านกองทุนรวมและผสมผสานหลายกลยุทธ์ เพื่อให้พอร์ตตราสารหนี้โดยรวมมีอายุเฉลี่ยที่เหมาะสมรวมทั้งมีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเพียงพอที่จะรองรับกับเศรษฐกิจที่จะชะลอตัว โดยกลยุทธ์ที่แนะนำ มีดังนี้
1. เน้นสัดส่วนใหญ่ในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกที่บริหารเชิงรุก โดยลงทุนตราสารหนี้หลายประเภทและปรับอายุเฉลี่ย (Duration) ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่อาจเปลี่ยนแปลงได้อีก รวมถึงเน้นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่มระดับลงทุนได้ (Investment Grade) มากกว่าอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (High Yield)
2. เสริมด้วยกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่กระจายลงทุนทั้งในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความมั่นคงสูงและตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี เพราะสหรัฐฯ มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในระดับต่ำจากเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่งแม้เผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น กลยุทธ์นี้ยังได้ประโยชน์โดยตรงจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ทำจุดสูงสุดไปแล้วและ FED จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในปีนี้
3. เติมเต็มพอร์ตด้วยกองทุนตราสารหนี้ประเภท Contingent Convertible Bonds (CoCos) ของภาคธนาคารและบริษัทประกัน โดยภาคธนาคารมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง ผลกำไรเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ย อีกทั้งอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1:CET1) อยู่ในระดับที่สูงกว่าตัวเลขขั้นต่ำที่หน่วยกำกับดูแลของแต่ละประเทศกำหนดไว้
4. ต่อยอดด้วยกองทุนหุ้นกู้เอกชนในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศเอเชียอยู่ในระดับสูงและธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เช่นเดียวกับ FED โดยเน้นลงทุนในประเทศที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เงินเฟ้ออยู่ในทิศทางปรับลดลง ฐานะการคลังมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งอัตราผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ Credit spread สูงกว่าหุ้นกู้เอกชนของประเทศพัฒนาแล้วที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันด้วย