'คมนาคม' บูมเมกะโปรเจ็กต์ 'ภูเก็ต' 7 โครงการเร่งด่วน 1.48 แสนล้าน

'คมนาคม' บูมเมกะโปรเจ็กต์ 'ภูเก็ต' 7 โครงการเร่งด่วน 1.48 แสนล้าน

“คมนาคม” กางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต 7 โครงการ รวมเม็ดเงินกว่า 1.48 แสนล้านบาท การทางพิเศษฯ นำร่องจ่อเสนอ ครม. ประมูลทางด่วนสายใหม่ “กะทู้ - ป่าตอง” ขณะที่ ทอท.เร่งศึกษาปั้นสนามบินอันดามัน คาดแล้วเสร็จ ส.ค.นี้ ดันขึ้นแท่นฮับเที่ยวบินอินเตอร์

KEY

POINTS

  • "คมนาคม" กางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต
  • ทุ่มงบ 1.48 แสนล้านบาท ดัน 7 โครงการเร่งด่วน เริ่มตอกเสาเข็มปีนี้
  • การทางพิเศษฯ นำร่องเสนอ ครม.ประมูลทางด่วนสายใหม่ "กะทู้ - ป่าตอง" 
  • ทอท.เร่งศึกษาปั้นสนามบินอันดามัน คาดแล้วเสร็จ ส.ค.นี้ ดันขึ้นแท่นฮับเที่ยวบินอินเตอร์ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปีนี้มีแผนผลักดันการลงทุนเร่งด่วน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการเดินทางทางบก และทางอากาศ 

สำหรับ 7 โครงการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 

1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท 

2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา - บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท 

3.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท 

4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท 

5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท 

6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท 

7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการลงทุนเร่งด่วน ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมการลงทุน โดยขอให้จัดใช้งบประมาณประจำปี 2567 เริ่มนำร่องก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นจึงคาดว่าโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ จะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนทันทีในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 โดยเฉพาะโครงการลงทุนทางบก ถนนทางหลวงต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว

ขณะที่โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต หรือรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) สายสถานีรถไฟท่านุ่น – ท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ในเส้นทางบนพื้นที่ถนนทางหลวง 

ดังนั้นกระทรวงฯ จะเร่งผลักดันโครงการลงทุนทางหลวงให้แล้วเสร็จก่อน คาดใช้เวลาราว 2 ปี ทำให้ระหว่างนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังมีเวลาในการทบทวนโครงการให้เหมาะสม พิจารณากรณีจุดตัดบนถนนทางหลวงว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทพ.ได้รายงานผลการศึกษาโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขออนุมัติประกวดราคางานก่อสร้างโครงการดังกล่าว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้

โดยแผนดำเนินงานดังกล่าว ปรับจากก่อนหน้านี้ที่ กทพ.ได้เปิดประกวดราคาแต่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอ ดังนั้นเพื่อให้โครงการเดินหน้า กทพ.จึงจะปรับแผนลงทุนก่อสร้างเอง 

รวมทั้งระหว่างนี้จะเร่งรัดศึกษาโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ โดยหากผลการศึกษาแล้วเสร็จ กทพ.จึงจะเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนรวมตลอดแนวเส้นทางโครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต

“ตอนนี้การทางฯ จะเร่งรัดเริ่มก่อสร้างช่วงกะทู้ - ป่าตอง ที่มีความพร้อมก่อน และหากผลการศึกษาช่วงสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้แล้วเสร็จ ก็จะเปิดพีพีพี รวมงานก่อสร้างและบริหารจัดเก็บค่าผ่านทางรวมตลอดทั้งเส้นทางจากสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้ – ป่าตอง และทางเอกชนที่ได้สิทธิพีพีพี ก็จะต้องจ่ายค่างานก่อสร้างช่วงกะทู้ – ป่าตองที่การทางฯ ลงทุนไปก่อน โดยวิธีนี้จะทำให้โครงการทางด่วนสายนี้ไม่ล่าช้าออกไปอีก”

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) และอาคารเทียบเครื่องบิน เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้จาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี คาดใช้วงเงินลงทุนราว 6,211 ล้านบาท ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความแออัดในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง

นอกจากนี้ ทอท.ยังเตรียมลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.นี้ 

ทั้งนี้จะพัฒนาบนพื้นที่บริเวณตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่แนวร่อนลงของอากาศยาน ไม่มีภูเขาเป็นอุปสรรคในการทำการบินลงจอด 

โดยท่าอากาศยานอันดามันจะรองรับเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่จะมีการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางที่ทำการบินระหว่างจังหวัด(Point – to – Point) หรือเส้นทางการบินแบบต่อเครื่องบิน (Connecting Flight) เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของเที่ยวบินระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ทอท. ประเมินวงเงินลงทุนท่าอากาศยานอันดามันอยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งานเขตการบิน 2.8 หมื่นล้านบาท, งานอาคารผู้โดยสาร 2.5 หมื่นล้านบาท, งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค 1.5 หมื่นล้านบาท และสำรองราคาและภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท 

สำหรับท่าอากาศยานแห่งนี้มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และจะมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 26 นาที