กทพ. เตรียมเปิดพีพีพีทางด่วนสายใหม่ ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ
การทางพิเศษฯ ลุยทางด่วนสายใหม่ ศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เคาะแนวเส้นทาง 18 กิโลเมตร เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช จ่อเปิดพีพีพีปี 2568 เผยปรับแผนลดขนาดงานก่อสร้าง ลดต้นทุนต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้านประชาชนหวั่นผลกระทบความปลอดภัย เสนอก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม) โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมระบุว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ.รับมอบโครงการทางด่วนสายนี้มาจากกรมทางหลวง (ทล.) เมื่อกลางปี 2565 เพื่อให้ กทพ.เร่งรัดดำเนินโครงการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด อีกทั้งเพื่อพัฒนาแนวเส้นทางให้เชื่อมต่อกับโครงข่ายทางด่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา หลังจาก กทพ.ได้รับโอนโครงการจึงนำรายละเอียดโครงการมาทบทวนใหม่ และมองว่าควรจะมีแนวเส้นทางต่อจากทางพิเศษศรีรัช ผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ (ส่วน D) รัช ผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ เพื่อให้เกิดการเดินทางในระบบทางด่วนแบบไร้รอยต่อ โดยการศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบก่อสร้างปัจจุบันใกล้แล้วเสร็จ กทพ.จึงเปิดเวลารับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อพูดคุยกับประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำแบบไปปรับให้สมบูรณ์
“ทางด่วนสายนี้การทางฯ เรานำผลการศึกษาจากกรมทางหลวงมาทบทวน และพบว่าเพื่อเป็นการลดผลกระทบประชาชน ลดต้นทุนการก่อสร้าง การทางฯ จะปรับลดขนาดงานก่อสร้างลง ปรับจากการสร้างทางด่วนสองฝั่ง ปรับเบี่ยงแนวเส้นทางมาเป็นทางด่วนฝั่งเดียว ซึ่งจะทำให้ลดวงเงินการลงทุนจากผลการศึกษาเดิมไปได้อีก”
อย่างไรก็ดี กทพ.ได้วางแผนดำเนินงานโครงการกำหนดศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จภายในปี 2567 หลังจากกนั้นจะเริ่มขั้นตอนจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไปกับการเสนอรูปแบบการลงทุนตาม พรบ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ซึ่งคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะแล้วเสร็จในปี 2568 ก่อนเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนช่วงระหว่างปี 2568 – 2570 ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2570 แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2573
เบื้องต้นแนวเส้นทางที่ กทพ.ทำการศึกษา มีระยะทาง 18 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนลดลงจากผลการศึกษาเดิมของ ทล.ประเมินไว้กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยจะอยู่บนเขตทางเดิมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 จุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช ผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ข้ามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง
หลังจากนั้นจะข้ามทางแยกต่างระดับร่มเกล้า จนกระทั่งเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ โดยแนวเส้นทางหลักจะไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ผ่าน ICD และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะสิ้นสุดโครงการบริเวณก่อนถึงจุดตัดถนนฉลองกรุง
โดยการศึกษาและคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ ประกอบด้วย ตำแหน่งทางยกระดับของโครงการที่เหมาะสม จะอยู่ทางทิศใต้ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (ขวาทาง) โดยทางยกระดับมีจุดเริ่มต้น ต่อจากจุดสิ้นสุดของทางพิเศษศรีรัช (ส่วน D) บริเวณเกาะแบ่ง ระหว่างทางหลวงพิเศษและทางบริการ ของทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 ช่องจราจร และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับศรีนครินทร์
จากนั้นทางยกระดับด้านเหนือจะเบี่ยงแนว ลงมารวมกับด้านทิศใต้เป็น ถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ผ่านจุดตัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 และจะแยกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 2 ช่องจราจร ต่อทิศทางเช่นเดิม และจะวิ่งผ่านทางต่างระดับร่มเกล้า ผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ โดยบริเวณนี้จะมีทางแยกออก เพื่อเชื่อมต่อทางต่างระดับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออก จากนั้นแนวเส้นทางหลักจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และลดระดับลงเป็นถนนระดับดินที่จุดสิ้นสุดโครงการ
ส่วนรูปแบบจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ มีลักษณะเป็น Partial Cloverleaf Interchange ประกอบด้วย ทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ส่วนรูปแบบจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณตำแหน่งทางขึ้น-ลงลาดกระบัง จะเป็นรูปแบบทางขึ้น-ลง บริเวณก่อนสะพานกลับหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในปัจจุบัน ทั้ง 2 ฝั่ง
โดยที่ทางขึ้น ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจรแยกจากทางหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบัน ก่อนจะยกระดับเข้าสู่โครงการ ส่วนทางลง ออกแบบทางลงขนาด 2 ช่องจราจร อ้อมด้านข้างของสะพานกลับรถในปัจจุบันเข้าเชื่อมทางหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อสร้างทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่ามีประเด็นสำคัญ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีความเห็นว่าโครงการไม่ควรมีโครงสร้างอยู่ด้านบน เนื่องจากจะบดบังทัศนียภาพ อีกทั้งกังวลว่าจะเกิดผลกระทบด้านความปลอดภัยของประชาชน เปรียบเทียบจากกรณีงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่มีโครงสร้างทางด่วนด้านบนและประชาชนได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ดี สจล.มีความเห็นอยากให้พิจารณาก่อสร้างทางด่วนสายนี้ในลักษณะอุโมงค์ใต้ดิน เพราะไม่บดบังทัศนียภาพ และยังแก้ปัญหาการจราจร ตลอดจนยังลดผลกระทบจากประชาชนระหว่างการก่อสร้าง ทั้งนี้ฝากให้หน่วยงานภาครัฐไปพิจารณา โดยต้องการเห็นการประเมินผลของภาครัฐเป็นการประเมินแบบ 360 องศา รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่ใช่มีเป้าหมายในการดำเนินงานอยู่แล้ว