ชวนรู้จัก ‘Virtual Bank’ ธนาคารไร้สาขา ที่จะมาพลิกโฉมโปรดักส์การเงินไทย
Virtual bank หรือ Digital-only bank จะไม่มีสำนักงานสาขาให้บริการ แต่จะเป็นบริการผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยธปท. เตรียมเปิดรับสมัครขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ‘Virtual Bank License’ ตั้งแต่ 20 มี.ค.- 19 ก.ย.2567 และจะเริ่มมีผู้ให้บริการรายแรกในปี 69
KEY
POINTS
- Virtual bank หรือ Digital-only bank จะไม่มีสำนักงานสาขาให้บริการ แต่จะเป็นบริการผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ
- ธปท. เตรียมเปิดรับสมัครขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ ‘Virtual Bank License’ ตั้งแต่ 20 มี.ค.- 19 ก.ย.2567
- คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง ‘Virtual Bank’ กลางปี 68 และเริ่มมีผู้ให้บริการรายแรกในปี 69
ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในแวดวงธุรกิจการเงินไทย โดยล่าสุดเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อกระทรวงการคลังได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank อย่างเป็นทางการ และเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.2567
โดยกระทรวงการคลังและธปท. จะร่วมกันพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในช่วงมิ.ย.2568 และคาดว่าจะเริ่มเห็นผู้ให้บริการ Virtual Bank รายแรกในไทยภายในปี 2569
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนมาทำความรู้จัก ‘Virtual Bank’ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่นี้ว่าจะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจธนาคารไทยอย่างไร
ก่อนอื่นรู้จักนิยามของ Virtual Bank โดย ธปท. ระบุว่า คือธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก โดยจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มานำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ มีประสิทธิภาพมากกว่า เดิม อนุมัติรวดเร็วขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมก็มีการพัฒนาช่องทางการบริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัล Mobile Banking App แต่ก็ยังควบคู่ไปกับการให้บริการผ่านสาขา และยังพึ่งพาการใช้บุคคลากรสูง
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มุ่งหวังว่าการให้บริการของ Virtual Bank จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น หลังจากไม่มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่ม SME และรายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ จึงไม่มีประวัติในสถาบันการเงิน กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
นอกจากนี้ การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ยังจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างเหมาะสม และสร้างประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้ใช้ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือสร้างปัญหาให้กับภาคส่วนอื่นในระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินด้วย
นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในแง่ของการบริการของ Virtual Bank เราคาดหวังว่าจะมีบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการแข่งขันในตลาดการเงินเดิมด้วย ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศ การตั้ง Virtual Bank ทำให้ธนาคารดั้งเดิมลดค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชี ซึ่งในระยะยาว Virtual Bank จะมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม ที่มีต้นทุนการจัดตั้งสาขา และการจำนวนบุคคลากร
สำหรับกรณีศึกษาการจัดตั้ง Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ
- NuBank ธนาคารดิจิทัลสัญชาติบราซิลที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา มีลูกค้ามากกว่า 85 ล้านคน ทั้งในบราซิล แม็กซิโป และโคลอมเบีย ทั้งยังเป็นบริษัทที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนสายเน้นคุณค่าระดับตำนาน เข้าลงทุนเมื่อปี 2564 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
โดยจุดเด่นของธนาคารคือได้ผลตอบแทนสูง ทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มียอดฝากขั้นต่ำ ไม่เก็บค่ารักษาบัญชี ทั้งยังใช้งานง่ายและปลอดภัย - WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำและเป็นแห่งแรกในจีน บริษัทในเครือ Tencent ผู้ให้บริการ WeChat ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 370 ล้านคน ที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน ทั้งปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน คลาวด์ บิ๊กดาต้า ในการให้บริการทางการเงินกับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอี
- KakaoBank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีจำนวนลูกค้ากว่า 17 ล้านคน และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน โดยมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk แอปพลิเคชันแชทที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ KakaoBank ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย คิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารดั้งเดิม และไม่คิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการด้านอื่นๆ
3 ทุนใหญ่เตรียมยื่นสมัคร
ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าสนใจในแวดวงการเงินไทยมี 3 กลุ่มทุนใหญ่ที่ประกาศจับมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง และเตรียมยื่นสมัครขอไลเซนส์ Virtual Bank ได้แก่
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ประกาศจับมือกับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จัดตั้งกิจการค้าร่วม (Consortium) เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved) โดย SCBX จะมีสัดส่วนถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ KakaoBank จะถือหุ้นอย่างน้อย 20% โดยทั้งสองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติมอีกด้วย
ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีแผนร่วมลงทุนกับพันธมิตร 4 รายที่มีความเชี่ยวชาญและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
Ascend Money ฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี หรือที่หลายคนรู้จักบริการ E-Wallet อย่าง True Money โดยแอเซนด์ มันนี่ยังมีพันธมิตรอย่าง Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group