Virtual Bank กับบริษัทที่ถือหุ้นกระจาย
เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลไทยประกาศหลักเกณฑ์ตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank (เวอร์ชวลแบงก์) อย่างเป็นทางการแล้ว
ที่สำคัญพร้อมออกใบอนุญาต “ไม่จำกัดจำนวน” (เดิมจำกัด 3 ราย) ให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ ตามที่ผู้เขียนได้เคยเล่าไว้ในเรื่อง “Virtual Bank กับการคัดเลือกแบบ Absolute Performance”
ซึ่งจะเปิดกว้างให้กับผู้เล่นหน้าเก่า (ทุนเก่า) และหน้าใหม่ (สตาร์ตอัปฟินเทค) แสดงความสามารถในการแข่งขันอย่างเต็มที่ มากกว่าจำกัดจำนวนชี้นำโดยรัฐ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการแสวงหาค่าเช่า (rent-seeking) และปัญหาของกลุ่มที่ถูกเลือกกับไม่ถูกเลือกโดยที่ยังไม่ได้แสดงฝีมือกัน
ขณะเดียวกันก็ตอบสนองต่อเสียง ที่เสนอให้เพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ขณะที่รอยแผลเป็นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องสั่งปิดบริษัทไฟแนนซ์กว่า 56 แห่ง ที่ทำธุรกรรมคล้ายกับธนาคาร ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ยังคงหลงเหลืออยู่
ในตอนแรก ธปท.อาจจำกัดจำนวนใบอนุญาต เพราะต้องการรักษาเสถียรภาพไม่อยากผู้ฝากเงินเดือดร้อนอย่างในอดีต หากเกิดการทุจริตหรือบริหารงานไม่โปร่งใส
แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เวอร์ชวลแบงก์มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ธปท.เท่านั้น คู่แข่งกันเอง และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีช่องทางในการตรวจสอบ กดดันให้บริษัทมีบรรษัทภิบาลที่ดีมากกว่าในอดีต
ประเด็นที่น่าสนใจคือ โมเดลธุรกิจของเวอร์ชวลแบงก์กำลังเริ่มต้นด้วยการถือหุ้นกระจาย (dispersed ownership) จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอใบอนุญาต เป็นกลุ่มพันธมิตรของหลายบริษัทที่มาจากความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตามที่ธปท.กำหนด
เช่น ธนาคาร เทคโนโลยีดิจิทัล ฐานข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเป้าหมาย (ผู้ไม่มีรายได้ประจำ เอสเอ็มอี กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ หรือเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ) ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีของการก่อตั้งบริษัทมหาชน ที่มิใช่ถือหุ้นกระจุกตัวโดยตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
(การถือหุ้นกระจุกตัว concentrated ownership หมายถึง มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้นเกินร้อยละ 20 ขึ้นไปของหุ้นทั้งหมด ตามเกณฑ์ 20% cut-off ของธนาคารโลก) ที่ทำให้มีสิทธิออกเสียง (voting right) เลือกกรรมการบริษัทและผู้บริหารเป็นบุคคลในเครือข่ายของตนเองได้
ที่ผ่านมาต้องขอชื่นชมโมเดลบรรษัทภิบาลธุรกิจครอบครัว (family business governance) ที่มีการถือหุ้นแบบกระจุกตัวและบริหารงานโดยผู้บริหารครอบครัวเป็นหลัก ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ประเทศไทยเติบโตจากประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (GNI per capital US$1,026-$3,995) สู่รายได้ปานกลางระดับบน (GNI per capita US$3,996-12,375)
กลุ่มทุนธุรกิจครอบครัวที่ขยันขันแข็ง อดทน ตัดสินใจเร็ว กล้าเสี่ยง กล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติในการนำเข้าเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรม สร้างตลาดทั้งในและต่างประเทศนั้น
เป็นโมเดลประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income model) ของไทยที่ประสบความสำเร็จ และกำลังเป็นตัวอย่างให้กับประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างอื่นๆ ที่ต้องการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนในระยะเวลาอันสั้น แบบไม่ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองเช่นกัน
อย่างไรก็ดี โมเดลบรรษัทภิบาลธุรกิจครอบครัวของไทยได้สิ้นสุดทางเลื่อนแล้ว โมเดลนี้จะไม่ทำให้ประเทศไทยเติบโตไปกว่านี้ได้
ขณะที่โมเดลสู่การเป็นประเทศรายได้สูง (GNI per capita $12,376 ขึ้นไป) ต้องการบริษัทผู้บริหาร (managerial enterprise) ที่ถือหุ้นกระจาย แยกความเป็นเจ้าของกับการบริหารออกจากกัน มีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารงานโดยความรู้ความสามารถ มากกว่าโดยสายสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
หากผลประกอบการไม่ดีก็ต้องลาออก ไม่ใช่นั่งกอดเก้าอี้ไว้ ที่สำคัญถูกตรวจสอบได้ว่าดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือหวังสืบทอดความมั่งคั่งให้กับลูกหลานซึ่งจะทำให้เติบโตได้จำกัด
ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมความเข้มแข็งของบรรษัทภิบาลบริษัทผู้บริหาร (corporate governance) โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากให้ดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทไทยไม่คุ้นชินกับการถือหุ้นกระจาย จากผลงานวิจัยของผู้เขียนพบว่าบริษัทถือหุ้นกระจาย (widely-help corporation) ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผลประกอบการด้อยกว่าบริษัทที่ถือหุ้นกระจุกตัว หรือมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ชัดเจน
เนื่องจากผู้ถือหุ้นที่ถือกันคนละส่วนเล็กส่วนน้อยต่างเกี่ยงกันรับผิดชอบการบริหารจัดการ หรือขาดผู้นำที่ตัดสินใจเด็ดขาด ในทางกลับกันบริษัทยักษ์ใหญ่ (big business) ของประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนแต่เป็นบริษัทถือหุ้นกระจายที่มีผลประกอบการดีกว่าบริษัทที่ถูกหุ้นกระจุกตัวแทบทั้งสิ้น
ขนาดบริษัทนั้นใหญ่จริงๆ อาทิ รายได้ต่อปีของบริษัท Google หนึ่งบริษัทคิดเป็นครึ่งหนึ่ง หรือบริษัทเสื้อผ้า Uniqlo ญี่ปุ่นหนึ่งบริษัทคิดเป็น 1 ใน 10 ของรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ต่อปีของไทยทั้งประเทศ
ด้วยเหตุนี้ นอกจากเวอร์ชวลแบงก์จะเป็นสถาบันการเงินที่จะให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว กำลังจะเป็นตัวแบบของบริษัทผู้บริหาร ที่เริ่มต้นโดยการมีพันธมิตรร่วมทุนร่วมความเชี่ยวชาญ และจะลอกคราบจากธุรกิจครอบครัว พัฒนาบรรษัทภิบาลบริษัทผู้บริหารต่อไปอย่างไร
วงการการเงินที่เต็มไปด้วยคนเก่งระดับหัวกะทิของไทยกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งใน Big Push ที่ต้องคอยติดตาม ดูเพิ่มเติม Business Groups and the Thailand Economy: Escaping the Middle-Income trap