แรงงานต่างด้าว ดีหรือไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย | บัณฑิต นิจถาวร
สัปดาห์ที่แล้ว รายการข่าว The Standard Wealth ตั้งประเด็นเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจว่า แรงงานต่างด้าวฟื้นหรือทุบเศรษฐกิจไทยระยะยาว เป็นคําถามด้านนโยบายที่สำคัญ
เพราะขณะที่ภาคธุรกิจมองแรงงานต่างด้าวว่าจําเป็น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วยอุดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานที่ประเทศมีโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ แต่มิติแรงงานต่างด้าวและผลต่อสังคมมีมากกว่านั้นมากโดยเฉพาะผลระยะยาว
จำเป็นที่ภาครัฐต้องระวัง มีนโยบายชัดเจนเรื่องแรงงานต่างด้าว และเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ประเทศมี นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
แรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ประเทศไทยเราขณะนี้มีปัญหาสำคัญเรื่องแรงงานสองเรื่อง และทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาใหญ่
เรื่องแรก ปัญหาสังคมสูงวัยที่จะทำให้จํานวนแรงงานของประเทศลดลง ขณะนี้สัดส่วนคนอายุมากกว่า 60 ปีในประเทศเรามีมากกว่าร้อยละ 18 และคงเพิ่มเป็นร้อยละ 30 หรือมากกว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ทําให้หนึ่งในสามของคนในประเทศจะเป็นคนสูงวัย เป็นผลจากอัตราการเกิดที่ต่ำและคนไทยมีอายุยืนขึ้น
ผลที่ตามมาคือจำนวนประชากรของประเทศลดลง คนในวัยทำงานมีน้อยลง และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง มองไปข้างหน้า ปัญหานี้จะยิ่งรุนแรง
เรื่องที่สอง กําลังแรงงานที่ประเทศมี ขณะนี้ประมาณ 35ล้านคน มีจํานวนมากที่ขาดความพร้อมด้านความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันเพราะไม่ได้ถูกฝึกมา
เช่น การทำงานที่ไม่ใช่งานรูทีนหรืองานลักษณะประจำ งานที่ต้องใช้ทักษะตนเอง ต้องใช้ความคิด การริเริ่ม การสื่อสาร เทคโนโลยี และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
เป็นผลจากที่ระบบการศึกษาบ้านเราไม่ได้เน้นหรือให้ความสําคัญมากพอในเรื่องเหล่านี้ ทําให้เกิดช่องว่างระหว่างความรู้และทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ คืออุปสงค์แรงงาน กับความสามารถของบุคลากรที่เข้ามาในตลาดแรงงานเพื่อหางานทํา หรืออุปทานแรงงาน ที่เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาของประเทศ
ความไม่ตรงระหว่างอุปสงค์กับอุปทานแรงงานหรือปัญหา mismatch ได้สร้างข้อจํากัดต่อภาคธุรกิจที่จะขยายธุรกิจ ขยายการลงทุน และยกระดับการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น ทําให้ภาคอุตสาหกรรมประเทศเราไม่สามารถพัฒนาได้มากอย่างที่ควร
ขณะที่ผู้จบการศึกษาก็หางานยาก เพราะแม้มีปริญญาแต่ขาดทักษะที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจเพราะไม่ได้รับการฝึกฝนมา เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญมากสำหรับงานในภาคบริการและท่องเที่ยว ทําให้ไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับแรงงานในระดับเดียวกันที่มาจากประเทศอื่น
ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยได้แก้ปัญหาโดยนำเข้าแรงงานจากภายนอกหรือต่างประเทศ ซึ่งระเบียบของภาครัฐเปิดทางให้โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ตัวเลขแรงงานต่างด้าวเฉพาะที่ลงทะเบียน ล่าสุดอยู่ที่ 3.4 ล้านคนโดยร้อยละ 97 มาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนซึ่งกลุ่มใหญ่สุดคือเมียนมา
ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง แต่เป็นแรงงานพื้นฐานที่อาจมีความได้เปรียบเรื่องภาษาอังกฤษเทียบกับแรงงานไทย หรือพร้อมที่จะทำงานในอัตราค่าจ้างที่เป็นพื้นฐานคือไม่แพงในแง่ต้นทุนการผลิต
สองประเด็นนี่ทำให้ภาคธุรกิจมองแรงงานต่างชาติว่า จำเป็นและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แม้จะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแรงงานไทย
ในทางเศรษฐศาสตร์ การใช้ประโยชน์แรงงานต่างด้าวมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาในแง่ผลดีผลเสีย
หนึ่ง การนําเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อให้อัตราค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ จะทําให้อุตสาหกรรมในประเทศไม่พัฒนา ไม่ต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เช่น ประมง ก่อสร้าง และสิ่งทอ กระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นในระยะยาว
ขณะเดียวกัน กําลังแรงงานของประเทศก็ขาดโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถในระดับที่สูงขึ้น และใช้ความรู้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ เพราะอุตสาหกรรมในประเทศไม่ยกระดับไม่พัฒนา
สอง แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะตํ่าจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแรงงานของประเทศที่ขาดทักษะเช่นกัน ทั้งในแง่การจ้างงาน การสร้างรายได้ และกดดันให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ปรับขึ้นเท่าที่ควร กระทบค่าจ้างและความเป็นอยู่ของแรงงานในกลุ่มอื่นๆ และในที่สุดก็สร้างภาระให้กับรัฐบาลในแง่สวัสดิการที่ต้องดูแลผู้ที่ตกงาน
ดังนั้น การนําเข้าแรงงานต่างด้าวจึงต้องมุ่งไปที่ทักษะที่ประเทศขาดแคลนจริงๆ และปัจจุบันเป็นที่ต้องการ เช่น อาชีวะ ดิจิทัลเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่เปิดกว้างเป็นการทั่วไป เป็นประเด็นสำคัญที่นโยบายภาครัฐต้องแยกแยะ
สาม แรงงานต่างด้าวแม้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว แต่การนําเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไม่ใช่การแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ประเด็นนี้ต้องตระหนักเพราะคนจํานวนมากคิดว่าเมื่อสังคมสูงวัยมีแต่คนแก่ ก็ควรนําเข้าแรงงานหนุ่มสาวเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อ ยิ่งมากยิ่งดี
เรื่องนี้การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ประเทศที่พึ่งแรงงานต่างด้าวมากและนาน นานไปแรงงานเหล่านี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรของประเทศ เพราะแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เฉพาะเรื่องการมีงานทำ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องมีชีวิต เติบโต มีครอบครัว มีฐานะ มีบ้านมีทรัพย์สิน ซึ่งจะกดดันทรัพยากรของประเทศที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าไป
กรณีสหรัฐ สัดส่วนระหว่างจํานวนแรงงานอพยพกับบุคลากรทั้งหมดที่มากับแรงงานอพยพจะประมาณ 1.38 หมายถึงแรงงานอพยพหนึ่งคนจะเติบโตเป็นครอบครัวที่รวมสามีภรรยา ลูก และพ่อแม่ถึงเกือบสี่คน
คนเหล่านี้บางส่วนก็อายุน้อยไม่อยู่ในวัยทำงาน บางคนอายุมากขึ้นและกลายเป็นคนแก่ในสังคมเช่นกัน ทําให้สัดส่วนระหว่างประชากรในวัยทํางานต่อประชากรทั้งหมดจะไม่แตกต่างมาก แม้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว คือทั้งตัวบนและตัวล่างจะเพิ่มขึ้น
ทั้งหมดเป็นข้อคิดว่าเรามีสองปัญหาที่ต้องแก้ไข และทั้งสองปัญหามีทั้งผลระยะสั้นและระยะยาวที่ต้องพิจารณา และควรต้องระมัดระวังในการทำนโยบาย
ท้ายสุด ในประเด็นสังคมสูงวัย ที่ญี่ปุ่นเคยมีการสํารวจความเห็นประชาชนว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาอย่างไร ระหว่าง การนําเข้าแรงงานจากต่างประเทศ การให้คนญี่ปุ่นทํางานนานขึ้น และการใช้หุ่นยนต์ คําตอบส่วนใหญ่จะอยู่ที่สองทางเลือกหลัง ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นไม่ชอบการนำเข้าแรงงานต่างชาติแต่เพราะเข้าใจดีว่า แรงงานต่างชาติไม่ใช่การแก้ปัญหา
เราในฐานะประเทศสังคมสูงวัยก็ต้องคิดคล้ายๆ กัน ต้องมองยาวไม่มองสั้น ต้องหาทางที่จะเพิ่มอุปทานแรงงานของประเทศ ไม่มุ่งพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจนเกินไป ให้คนที่ใกล้เกษียณแต่สมัครใจอยากทํางานต่อสามารถทํางานต่อได้ ให้คนในวัยเกษียณที่อยากทํางานอยากมีรายได้มีงานทำ
ให้คนที่ตกงานมีงานทำ ให้สตรีที่ไม่เคยทำงานแต่อยากทํางานมีงานทำ ยกระดับและพัฒนาทักษะและความสามารถของแรงงานที่ประเทศมีให้สูงขึ้น รักษาแรงงานที่มีทักษะให้ทํางานในประเทศไม่ต้องเร่ร่อนไปต่างประเทศ
ดึงแรงงานและมันสมองคนไทยในต่างประเทศให้กลับมาสร้างชาติสร้างประเทศอย่างที่จีนทํา และสำคัญสุด ปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งระดับอาชีวะและสามัญให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและภาคธุรกิจ
นี่คือสิ่งที่เราสามารถทําได้แต่ยังไม่ทําจริงจัง ยังไม่เตรียมตัวกับความท้าทายของสังคมสูงวัยที่จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นๆ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล