ตรวจความพร้อมสังคมไทย รับแรงงานข้ามชาติทดแทนสูงวัย
ในสังคมสูงวัยอย่างประเทศไทย เด็กเกิดน้อย ผู้ใหญ่อายุยืน กำลังแรงงานลดน้อยถอยลง การรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวมีลูกไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ดูเหมือนว่าการเปิดรับแรงงานข้ามชาติน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่คำถามคือทัศนคติของคนไทยพร้อมหรือยัง
Key Points:
- ไทยเป็นประเทศปลายทางสำคัญในเอเชียแปซิฟิกสำหรับผู้ย้ายถิ่น เหตุผลสำคัญอันหนึ่งคือโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย
- การรับรู้โดยรวมต่อคนย้ายถิ่นในไทยชี้ให้เห็นว่า การที่พวกเขาเข้ามามากขึ้นก็เพื่อมาทำงานมากกว่าการแสวงหาการคุ้มครอง
- การย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศยากจนนอกภูมิภาคเข้ามาอยู่ไทยในระยะยาวมีมากกว่าการย้ายถิ่นจากประเทศที่เศรษฐกิจดีกว่าไทย
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) จัดเวทีเสวนา “การสร้างทัศนคติที่ดีของสาธารณะต่อผู้ย้ายถิ่น” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานด้านการย้ายถิ่นเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในการสนับสนุนวาทกรรมที่สมดุลให้ถูกต้อง
เจรัลดีน อองซาร์ต หัวหน้าสำนักงานไอโอเอ็มประเทศไทยนำเสนอรายงานการประเมินความรับรู้ของสาธารณะต่อผู้ย้ายถิ่น โดยชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศปลายทางสำคัญในเอเชียแปซิฟิกสำหรับผู้ย้ายถิ่น เหตุผลสำคัญอันหนึ่งคือโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย จึงดึงดูดผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง ตัวอย่างเช่น ในเมียนมารายได้สำคัญมาจากแรงงานในประเทศไทยส่งกลับไปบ้าน
"แรงงานข้ามชาติยังสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่พวกเราได้เห็นแล้วตอนโควิด-19 ระบาด ขณะที่คนส่วนใหญ่กักตัวแต่แรงงานข้ามชาติยังทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการ"
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าไอโอเอ็มประเทศไทย ชี้ว่า ผลประโยชน์และสิ่งดีๆ ที่แรงงานข้ามชาติมีให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถูกมองอย่างครอบคลุม จนน่าเป็นห่วงว่าเกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้ความเกลียดกลัวคนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ผู้ย้ายถิ่นต้องตกเป็นเหยื่อของความอคติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขานำโอกาสมหาศาลมาให้สังคม สร้างความก้าวหน้า การพัฒนา และหลอมรวมผู้คนเป็นหนึ่งเดียว
“บทบาทของสื่อสำคัญมากไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดียที่ตอนนี้มีอิทธิพล การรายงานข่าวต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงไม่ใช่เฟคนิวส์ และต้องรายงานตามมาตรฐานจรรยาบรรณสื่อ เมื่อนั้นการเล่าเรื่องจะมีพลังในการกำหนดวาทกรรมทางสังคม มีอิทธิพลต่อนโยบาย การรับรู้ และท้ายที่สุดมีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมมีต่อคนย้ายถิ่น” อองซาร์ตกล่าวถึงบทบาทสื่อกับการทำหน้าที่สำคัญ ก่อนเปิดรายงาน การประเมินความรับรู้ของสาธารณะต่อผู้ย้ายถิ่น
รายงานชิ้นนี้เป็นการสำรวจประชากรไทย 1,253 คน ในสามจังหวัด จันทบุรี 436 คน อ.แม่สอด 415 คน กรุงเทพฯ 402 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลระหว่าง 19-30 ต.ค.2566 ระดับความเชื่อมั่น 95% พบข้อมูลสำคัญ เช่น ผู้ให้ข้อมูลเกือบครึ่ง (46%) พบเจอกับผู้ย้ายถิ่นสม่ำเสมอ ผู้ให้ข้อมูลจากแม่สอด 35% เป็นเพื่อนกับผู้ย้ายถิ่น จันทบุรี 21% และกรุงเทพฯ 10%
ในภาพรวมผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ (63%) ติดต่อสื่อสารกับผู้ย้ายถิ่นในพื้นที่ มีแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ติดต่อเพียง 26%
การยอมรับผู้ย้ายถิ่นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเมืองชายแดนกับกรุงเทพฯ แม้ผู้ให้ข้อมูลโดยรวมราว 59% กล่าวว่ายอมรับผู้ย้ายถิ่นประเภทต่างๆ ได้ แต่จันทบุรีและตากยอมรับมากกว่ากรุงเทพฯ ที่73%, 61% และ 43% ตามลำดับ ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้ใช้แรงงานมีทัศนคติในทางบวกต่อคนย้ายถิ่นมากที่สุด
การรับรู้โดยรวมต่อคนย้ายถิ่นในไทยชี้ให้เห็นว่า การที่พวกเขาเข้ามามากขึ้นก็เพื่อมาทำงานมากกว่าการแสวงหาการคุ้มครอง การย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศยากจนนอกภูมิภาคเข้ามาอยู่ไทยในระยะยาวมีมากกว่าการย้ายถิ่นจากประเทศที่เศรษฐกิจดีกว่าไทย
แม้ผู้ให้ข้อมูลเห็นพ้องอย่างมาก (78%) ว่า แรงงานข้ามชาติช่วยปิดช่องว่างในตลาดแรงงานไทย แต่ 42% ไม่เห็นด้วยที่แรงงานข้ามชาติจะได้ค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์เท่ากับแรงงานไทยในงานประเภทเดียวกัน
การรู้จักมักจี่โดยตรงและความคุ้นเคยกับผู้ย้ายถิ่นทำให้ผู้ให้ข้อมูลชาวไทยมีทัศนคติที่ดีกับพวกเขามากที่สุด เห็นได้ชัดจากเมืองชายแดนเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ สอดคล้องกับรายงานเรื่อง “ทัศนคติของสาธารณะต่อแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย” จัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศและยูเอ็นวีเม่น (UN Women) เมื่อปี 2562 พบว่า การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพบ่อยครั้งกับแรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนแรงงานข้ามชาติได้มากกว่าตัวแปรด้านประชากร
ทั้งนี้ โซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ และครอบครัวเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นหรือผู้ย้ายถิ่น
จากข้อค้นพบรายงานเสนอแนะให้ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ย้ายถิ่นเพื่อเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจกัน สื่อสารอย่างมีเป้าหมายให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีทัศนคติทางบวกต่อผู้ย้ายถิ่นน้อยกว่า เช่น กรุงเทพฯ และประชากรกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ย้ายถิ่นโดยตรง แก้ไขปัญหาการรับรู้ผิดๆ และเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงความยากลำบากที่ผู้ย้ายถิ่นต้องเผชิญ รวมถึงสิ่งที่พวกเขาทำให้กับสังคมไทย ด้วยการฉายภาพความหลากหลายของผู้ย้ายถิ่น การมีส่วนร่วมสร้างสังคมของพวกเขา และประสบการณ์ของผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย
สำหรับหน้าที่ของสื่อมวลชน ควรมีการฝึกอบรมทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่เพื่อส่งเสริมการรายงานข่าวอย่างสมดุล
ย้ายถิ่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นความท้าทายของทุกประเทศ มีหลายมิติ เป็นเรื่องของคนที่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการหนีภัย หนีการประหัตประหาร (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีหลายสถานะ เช่น asylum seeker, refugee, displace person, migrant workers แต่ละสถานะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกัน พันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหลากหลายเช่นกัน ดังนั้นการกำหนดนโยบายต้องหาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคง ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ หลักการด้านมนุษยธรรม มนุษยชน ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จแต่ละประเทศต้องเลือกทางเดินที่เหมาะสมของตนเอง
ประเทศไทยอยู่ในสถานะไม่เหมือนใครตรงที่เป็นทั้งประเทศผู้รับ เคยรับผู้ลี้ภัยจากกัมพูชาถึง 300,000 คน ขณะนี้ก็ยังรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาราว 70,000-80,000 คน ถ้าสถานการณ์ในเมียนมายังเป็นเช่นนี้ต่อไปเราอาจต้องเตรียมความพร้อมรับมากขึ้น
เป็นประเทศผู้ส่ง ที่ถูกต้องตามกฎหมายคือส่งไปไต้หวัน เกาหลี ตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มกังวลและอยากหารือกับไทยว่าการไปญี่ปุ่นไม่ต้องใช้วีซ่าทำให้คนไทยหลายคนอยู่เกินกำหนดและไปทำงาน หรือการส่งไปอิสราเอลสถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยง รัฐบาลต้องพร้อมเข้าไปช่วยเหลือนำกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยทั้งแรงงานและตัวประกัน
สถานะที่ 3 ไทยประเทศทางผ่าน และมีขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีอุยกูร์ โรฮิงญา เกาหลีเหนือ จีน เมียนมา การปฏิบัติงานของไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอุยกูร์ที่มีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง
สีหศักดิ์ย้ำว่า จากสถานะทั้งสาม ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศที่เผชิญความท้าทายจากการย้ายถิ่นฐานในทุกรูปแบบรวมทั้งการค้ามนุษย์
ส่วนเรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ประเมินกันว่ามีราว 3-6 ล้านคน
“นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทัศนคติของคนไทยต่อแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มองว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมีส่วนสร้างเศรษฐกิจไทย และเราต้องปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวเหมือนกับที่เราปฏิบัติกับแรงงานไทย” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกล่าวและว่า ไทยต้องทำให้ดีขึ้นอีกเพราะตอนนี้ไทยเป็นภาคีของ Global Compact on Migration ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐาน ประเทศไทยก็รับเป็นผู้มีบทบาทนำในประเภทการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว
“ตอนนี้ไทยกำลังหาเสียงเป็น Human Rights Council ถ้าเราทำได้ดีตรงนี้จะช่วยในการหาเสียงของไทย” สีหศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย