'ศิริราช' ยกระดับการแพทย์ AI เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

'ศิริราช' ยกระดับการแพทย์ AI  เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

แม้ขณะนี้ผู้คนจะให้ความใส่ใจ ดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะเจ็บป่วย ด้วยสภาพสังคมของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

KEY

POINTS

  • ศิริราช เป็นรพ.ที่ดูแลคนไข้คนไทยมาตลอด 136 ปี และเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป ตั้งเป้าสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ เพิ่มบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น
  • ศิริราชมีความร่วมมือกับภาคเอกชนยกระดับเทคโนโลยี AI พร้อมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยขึ้นทะเบียนกับทางอย. หรือได้รับการติดต่อมาจากสปสช.ในการใช้สิทธิต่างๆ
  • มีระบบเทรนนิ่งโปรแกรมที่จะเชื่อมบุคลากรทุกรุ่น ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นอาวุโสไว้ด้วยกัน เพื่อให้การรักษาคนไข้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

แม้ขณะนี้ผู้คนจะให้ความใส่ใจ ดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะเจ็บป่วย ด้วยสภาพสังคมของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ทำให้เกิดกลุ่มโรคมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรคNCDs (Non-communicable diseases) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่คร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากในแต่ละปี

คนไทยมีปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า โดยเฉพาะจำนวนคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คาดการณ์ มีคนไข้เบาหวาน 6.5 ล้านคน ความดัน 14 ล้านคน โรคไตทุกระยะ ประมาณ 1 ล้านคน มะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคนต่อปี และมีปัญหาสุขภาพจิต สูงถึง 10 ล้านคน

ปี 2562 มีงานวิจัยของสธ. ร่วมกับองค์การอนามัยโลก(WHO) บ่งชี้ว่า คนไทยเสียชีวิต เพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ กว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลทางตรง จำนวน 139,000 ล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อม จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ความท้าทาย AI ทางการแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ที่ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน

เปิดลิสต์! 'อาชีพมาแรง'ปี 2568 ที่ตลาดต้องการกำลังคนสูง

ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แพทย์มีจำกัด

“โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลศิริราช , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ซึ่งปี2567 มีสถิติคนไข้เข้ารับการรักษาประมาณ 4.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้กลุ่มโรค NCDs

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่าขณะนี้มีจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เนื่องจากโรค NCDs มาจากกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การไม่ได้ออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การพักผ่อน ขณะเดียวกัน ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โรคNCDs มักจะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคกระดูกต่างๆ 

“ปัจจุบันการเป็นโรคส่งผลต่อเศรษฐานะ ซึ่งเศรษฐานะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเหมือนกันมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน และด้วยคนไข้ป่วยมากขึ้น แข็งแรงน้อยลงแพทย์ต้องรับผิดชอบในการดูแลมากขึ้น คนไข้ของศิริราชส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยและต่างด้าวที่ได้รับสิทธิในการรักษา ขณะที่ บุคลากรทางการแพทย์ของเรามีเพียงจำนวนหนึ่ง สัดส่วนความจำเป็นและมาตรฐานสถานพยาบาลทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนแพทย์และบุคลากรได้อย่างรวดเร็ว” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

\'ศิริราช\' ยกระดับการแพทย์ AI  เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

AI กำลังเสริมช่วยดูแลรักษาคนไข้

แม้ “ศิริราช” จะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์แต่หากมาโรงพยาบาลจะเห็นคนไข้จำนวนมาก โดยเฉพาะตึกผู้ป่วยนอก กำหนดแพทย์ต่อคนไข้ 1:900 กว่าคน แต่ในความเป็นจริง แพทย์ต้องดูแลคนไข้มากกว่านั้น รวมถึงโรงพยาบาลดูแลคนไข้ตั้งแต่โรคทั่วไปจนถึงโรคยากและมีความซับซ้อน ต้องอาศัยอาจารย์หมอ และเทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวต่อว่าศิริราชได้มีการนำเทคโนโลยีAI เข้ามาเป็นผู้ช่วยในการดูแลผู้ป่วยในหลายๆ เรื่อง เพราะศิริราชสนับสนุนให้โรงพยาบาลเป็น Smart Hospital หรือระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ตั้งแต่การประเมินคนไข้ การวิเคราะห์ การจัดเก็บข้อมูล มาตรฐานต่างๆ จะดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดการ การบริการได้รวดเร็วและปลอดภัย เช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศทางพยาธิวิทยา (Pathology information system, PIS) ด้วยเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง และ AI ร่วมกับ IBM ช่วยยกระดับคุณภาพการวินิจฉัย โรคมะเร็งที่มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทั้งในไทยและอาเซียน เป็นต้น

“เรามีการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยตลอด โดยเฉพาะ AI ได้มีการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2563 ใช้งบประมาณเกือบ 200 ล้านบาท และดำเนินการใน 7-8 โครงการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอาจารย์หมอ และแพทย์ได้มีการนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนไข้ Pain Point ที่กำลังเผชิญ และนำมาสู่การวิเคราะห์รักษา หรือฟื้นฟูโรคให้แก่ผู้ป่วย โดยที่ทางศิริราชจะมีการอบรมให้ความรู้แก่ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้เทคโนโลยี AI ดังกล่าว เพราะในการนำAI มาใช้ คนต้องเป็นผู้ควบคุม แพทย์ยังต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ วินิจฉัย ดูแลรักษา ฟื้นฟูป้องกันโรค โดยที่มีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์”ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จะได้รับการพัฒนาอบรมให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือและระบบต่างๆ รวมถึงการรักษาความลับของข้อมูลร่วมด้วย เรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่แม่นยำและจำเพาะ เป็นการรักษาเฉพาะเจาะจงรายบุคคล

โดยที่ศิริราชจะมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการยกระดับเทคโนโลยี AI อีกทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ต้องขึ้นทะเบียนกับทางอย. หรือได้รับการติดต่อมาจากสปสช.ในการใช้สิทธิต่างๆ อาทิ AI กับการตรวจมะเร็งเต้านม การเช็กCT Scan การรักษาโรคStroke การจ่ายยา Telemedicine ซึ่งตอนนี้มีเกือบ 30 โครงการ

\'ศิริราช\' ยกระดับการแพทย์ AI  เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

ตั้งเป้าเพิ่มสตาร์ทอัพทางการแพทย์

ศิริราชมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมการทำ AI ของแต่ละภาควิชา เพื่อใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการดูแลคนไข้ และยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น และพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน พัฒนางานวิจัย และสร้างสตาร์ทอัพให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสตาร์ทอัพอยู่ 2 บริษัท

“เรามีระบบเทรนนิ่งโปรแกรมที่จะเชื่อมบุคลากรทุกรุ่น ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นอาวุโสไว้ด้วยกัน เพื่อให้การรักษาคนไข้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้แพทย์เหนื่อยน้อยลง และด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จำเป็นที่โรงพยาบาลและทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ต้องเรียนรู้ร่วมกัน”ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

คนไทยและคนทั่วโลกต่างสนใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น และพร้อมจะลงทุนกับสุขภาพของตนเอง อย่าง การออกกำลังกาย อาหารเสริม การใช้เทคโนโลยีอย่าง สมาร์ทวอทช์ เข้ามาช่วยดูแลตัวเอง หรือการเชื่อมต่อกับแพทย์เจ้าของไข้ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยโรงพยาบาลต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาใช้

\'ศิริราช\' ยกระดับการแพทย์ AI  เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู

“ศิริราช”ดูแลคนไทยตลอด 136 ปี

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวด้วยว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่สูง มีแพทย์ที่ดีและเชี่ยวชาญ และราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งในส่วนของรพ.รัฐ ประเทศไทยถือเป็น 1 ในTop 5 ของทั่วโลกที่มีทีมแพทย์และบุคลากร มีเทคโนโลยี AI หรือหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มีมาตรฐานระดับสากลในราคาที่คนไข้สามารถจ่ายได้ 

อีกทั้งมีระบบสาธารณสุข ระบบการดูแลตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงประเทศ รวมถึงขณะนี้มีการผลักดันเรื่องการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ งานวิจัยทางการแพทย์ที่สามารถนำมาต่อยอดได้จริงมากขึ้น ฉะนั้น หากมีการเปิดตลาดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา ลงทุนกับงานวิจัย เทคโนโลยีทางการแพทย์ เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น

“ศิริราช ยังเป็นรพ.ที่ดูแลคนไข้คนไทยมาโดยตลอด 136 ปี และเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน เป็นโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ที่รับรักษาคนไข้ 30 บาท มากสุดในประเทศ พร้อมทั้งยังเดินหน้าพัฒนาให้ความรู้ สร้างบัณฑิตแพทย์ควบคู่กับการเป็นสถาบันที่สร้างงานวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป ตั้งเป้าจะสนับสนุนให้ศิริราชทำเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรมมากขึ้น เพิ่มบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น เพื่อพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยี AI เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อดูแล ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูคนไข้” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

\'ศิริราช\' ยกระดับการแพทย์ AI  เพิ่มสตาร์ทอัพ ดูแลรักษา ฟื้นฟู