ภาครัฐ-เอกชนลุย “เอไอเฮลท์แคร์" ยกระดับมาตรฐาน
“ภาครัฐ-เอกชน” เดินหน้าแผนเอไอเฮลท์แคร์ “พริ้นซ์-บีดีเอ็มเอส”ขยับสู่การร่วมลงทุนในบริษัทพัฒนาเอไอ “ทรู-อินเทล” บุกธุรกิจ Smart Healthcare ภาคเอกชนมั่นใจเอไอตอบโจทย์ลงลึกถึงเครื่องมือติดตามสุขภาพเฉพาะคน
KEY
POINTS
- “เอไอ” มีบทบาทต่อระบบสาธารณสุขและเฮลท์แคร์อย่างมาก ตั้งแต่เอไอทางการแพทย์ ระบบสุขภาพนอกสถานพยาบาล และอุปกรณ์ติดตามสุขภาพที่ติดตามตัวเฉพาะบุคคล
- “ภาครัฐ"รพ.สธ.นำร่องใช้เอไอทางการแพทย์ ปี 2568 ขยายผลใช้วงกว้างสู่เป้าใช้ทั่วประเทศ ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)นำมาใช้ตรวจสอบระบบเบิกจ่ายเงิน
- "ภาคเอกชน” เดินหน้าแผนเอไอเฮลท์แคร์ “พริ้นซ์-บีดีเอ็มเอส”ขยับสู่การร่วมลงทุนในบริษัทพัฒนาเอไอ “ทรู-อินเทล” บุกธุรกิจ Smart Healthcare มั่นใจเอไอตอบโจทย์ลงลึกถึงเครื่องมือติดตามสุขภาพเฉพาะคน
“เอไอ” มีบทบาทต่อระบบสาธารณสุขและเฮลท์แคร์อย่างมาก ตั้งแต่เอไอทางการแพทย์ โดย รพ.ภาครัฐและเอกชนนำมาให้บริการ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ,ผู้ช่วยพยาบาลเสมือนจริง ,ช่วยวินิจฉัยโรค และการบริหารจัดการ โดยเอไอถูกนำมาใช้ในระบบสุขภาพนอกสถานพยาบาล และอุปกรณ์ติดตามสุขภาพที่ติดตามตัวเฉพาะบุคคลด้วย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตลาดเอไอในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง คาดมูลค่าตลาดจะขึ้นไปแตะ 353 ล้านดอลลาร์ และจะช่วยสร้างมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจาก 2567-2577 ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัล 100% รวมถึงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่มาให้บริการประชาชน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงต่อโรคและภัยสุขภาพ
สำหรับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(รพ.สธ.) คิดเป็น 80% ของ รพ.ในไทยนั้น ทุกระดับพัฒนาเป็น Smart Hospital 100% แล้ว อีกทั้งตั้งหน่วยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ อยู่ในสำนักสุขภาพดิจิทัล สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยปี 2568 จะขยายผลการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ และประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเอไอมาใช้ในระบบบริหารจัดการข้อมูลตรวจสอบการจ่ายเงินชดเชย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ปริมาณข้อมูลการเบิกจ่ายในฐานข้อมูลของ สปสช. มีมากจึงนำเอไอมาใช้ในการปรับระบบการตรวจสอบการจ่ายเงิน ทำเป็นโมเดลขึ้นมาแล้วให้เอไอดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเอไอช่วยดูพฤติกรรมการเบิกจ่าย
รพ.เอกชนหนุนงบสตาร์ตอัป
นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการและรองประธานคณะกรรมการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่า แผนลงทุนเทคโนโลยีเอไอในปี 2568 มีนโยบายเชิงรุกเน้นร่วมลงทุนและพัฒนากับบริษัทที่ศักยภาพเอไอ เพื่อพัฒนาระบบการเบิกจ่าย ทั้งภาครัฐและการประกันสุขภาพจะช่วยให้เบิกค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะการประมาณการค่าสินไหมทดแทน
รวมถึง มีแผนการนำระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและวางแนวทางในการรักษาโรค และการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BDMS ลงทุนนวัตกรรมใหม่ 1,500 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนระดับ Serie A ตามโครงการ Sandbox ที่ BDMS ร่วมกับสตาร์ตอัปมาช่วยพัฒนาบริการทางการแพทย์และการบริการด้านสุขภาพ 3 ปีที่ผ่านมา ให้ทุนสนับสนุน 4 แห่ง ได้นำนวัตกรรมมางานได้จริงแล้ว 7 โครงการ
ล่าสุดร่วมลงทุนใน CARIVA บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของไทย เป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล ตรวจคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากผลตรวจของแต่ละบุคคล
ทรู-อินเทลบุกธุรกิจ Smart Healthcare
นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูบิสิเนสมุ่งพัฒนาโซลูชันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของธุรกิจไทย พร้อมส่งเสริมการใช้เอไอในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยร่วมมือกับอินเทลขับเคลื่อนการทำงานของโซลูชันอัจฉริยะด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยรักษา การฟื้นฟูดูแล และการจัดการข้อมูลการแพทย์
ทั้งนี้ เปิดตัว 7 โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะและนำเอไอมาให้บริการ เช่น Future of Large Language Model (LLM) แพลตฟอร์มที่ใช้ AI วิเคราะห์ประวัติผู้ป่วยและอาการเบื้องต้น พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรักษา ,Pathology as a Service ระบบที่แปลงภาพพยาธิวิทยาเป็นดิจิทัลและวิเคราะห์ด้วย AI ช่วยเร่งการวินิจฉัยโรค
“เอไอ”บริการนอก รพ.-รายบุคคล
นางสาวชัชฎา อภิชาสุทธากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมาย self-service โดยพัฒนาทีมเอไอขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้ เช่น Advance Telemedicine ที่ดำเนินการแล้ว คือ Health Tech ที่ทำกับกรุงเทพมหานคร และตู้ห่วงใยที่ทำกับ สปสช.นำเอไอมาช่วยในการใช้งานได้ง่าย ตั้งแต่กระบวนการเช็กสิทธิ์ ใช้สิทธิ์และรับยากลับบ้าน
ทั้งนี้ ได้พัฒนาการตรวจสุขภาพวัดส่วนสูง น้ำหนัก ความดัน ออกซิเจนในร่างกาย แล้วเอไอจะนำค่าทั้งหมดมาประมวลผล รวมทั้งมีฟีเจอร์ใหม่ในกรณีที่เครือข่ายสัญญาณอาจจะมีปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล บนดอย เกาะ ทำให้แพทย์และคนไข้ได้ยินไม่ชัด เอไอจะทำหน้าที่เปลี่ยนคำพูดเป็นตัวอักษร และแสดงผลเป็นข้อความ ส่วนกรณีที่แพทย์ใช้หูฟังทรวงอกจะเป็นรีโมตแบบทางไกลให้แพทย์