เปิดแผนบิ๊กคอร์ปรุก ‘เอไอ’ ทรานส์ฟอร์ม‘จุดเปลี่ยนธุรกิจ’
บิ๊กคอร์ป โชว์กลยุทธ์ “เอไอ” ทรานส์ฟอร์มองค์กรดิจิทัล “โออาร์” ใช้พัฒนาธนาคารไร้สาขา “บ้านปู”ใช้ AIจัดการซื้อขายพลังงาน “ซีพีเอฟ” ใช้ AI ในห่วงโซ่การผลิต “ทรู-เอไอเอส” ดึง “เอไอ” ทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ลูกค้า ดูแลโครงข่าย หนุนลูกค้าออกแบบการใช้งานได้เองตามไลฟ์สไตล์
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่กำลังสร้างการเปลี่ยนทางสังคมและเศรษฐกิจ พลังของ AI เด่นชัดมากขึ้นเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซ่ึงทำให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องประยุกต์ใช้ AI เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
นายภากร สุริยาภิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจดิจิทัลและโซลูชัน บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า การนำดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งกลุ่ม
โดยเทรนด์ปัจจุบัน ทั้ง AI และดาต้าเซนเตอร์ เป็น Generative AI ที่มีบทบาทในการนำมาปรับใช้กับองค์กร เพราะ OR ประชุมเยอะ การใช้ AI มาช่วยสรุปเอกสารถือเป็นหัวใจสำคัญ ช่วยลดขั้นตอนทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการจะทำธุรกิจใหม่ที่มีข้อมูลจำนวนเยอะก็จะต้องศึกษา ทั้งการจะสร้างสถานีบริการน้ำมันจะต้องหาข้อมูลจำนวนคน พฤติกรรม
รวมถึงต่อยอดสู่การพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลทางธุรกิจซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ซึ่งจะเพิ่มบริการลูกค้าของทั้ง AIS กว่า 40 ล้านราย และลูกค้าธนาคารกรุงไทย ซึ่งขณะนี้มีการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจำนวนมาก รวมถึงสมาชิกบัตร บลูการ์ดอีกกว่า 8 ล้านราย ให้เข้าถึงบริการทางการเงินให้ง่ายสะดวกและดียิ่งขึ้น
“บ้านปู”ใช้ AI จัดการซื้อขายพลังงาน
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บ้านปูใช้ AI ได้แก่ ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Optimization) โดยใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลการขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) ที่มีเทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางของราคาพลังงาน
“บ้านปู ได้ผสมผสานเทคโนโลยีและ AI เข้าช่วยบริหารจัดการในเหมืองซึ่งมีซัพพลายเชนค่อนข้างยาว 100 กิโลเมตร ตั้งแต่หน้าเหมืองถึงท่าเรือ ซึ่งมีข้อมูลเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้ AI มาช่วยบริหารจัดการเป็นเครื่องมือจะลดต้นทุนและคาร์บอนด้วย”
ทั้งนี้ หากบริษัทไหนไม่เอา AI มาใช้จะล้าหลัง เราใช้ AI มาช่วย 7 โปรเจกต์ เช่น เอ็นเนอจี้เทรดดิ้ง เพื่อประเมิณราคาไฟในญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย ล่าสุดช่วยในกลุ่มโมบิลิตี้ และนอกเหนือจากนั้นอยู่ที่พนักงานซึ่งต้องพยายามหล่อหลอมให้ใช้ เช่น แชท GPT ช่วยสรุปผลประชุม
CPF ใช้ AI ในห่วงโซ่การผลิต
นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ นำเทคโนโลยีดิจิทัล IoT และ AI รวมถึงใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเพาะปลูก ผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารให้กับผู้บริโภคของบริษัท 50 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์นำระบบ AI Smart Control มาควบคุมการผลิตอัตโนมัติทุกขั้นตอน มีการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ การนำระบบ AI Vision & Inspection ตรวจสอบชนิด และคุณภาพแบบเรียลไทม์ โดยนำไปใช้ในโรงงานอาหารสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ 16 โรงงาน
สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้พัฒนาระบบ TFMS (Total Farm Management System) สำหรับควบคุมการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนอัจฉริยะ ส่วนขั้นตอนการแปรรูปอาหารนำ AI ช่วยควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ทั้งยังช่วยวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแม่นยำขึ้น ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และประหยัดพลังงาน
คูโบต้าชี้ AI ช่วยภาคเกษตร
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าใช้ AI ให้สอดรับการปรับตัวภาคเกษตรไทยและภูมิภาคแบ่งเป็น 2 ส่วน ในด้าน hardware (เครื่องจักร) และ software (platform, application) โดยใช้ร่วมกับเครื่องจักร ช่วยให้เกษตรกรทำกิจกรรมการเกษตรได้แม่นยำ เช่น การวิเคราะห์ดินและใช้เครื่องจักรที่มี AI
รวมทั้งใช้ AI กับระบบชลประทานอัตโนมัติ การจัดการศัตรูพืช โรคพืช AI ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบพืชผลและสุขภาพพืชได้อย่างรวดเร็วตรวจพบปัญหาในระยะเริ่มต้น ช่วยให้เกษตรกรวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อระบุแนวโน้มและตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับการปลูก การใส่ปุ๋ย และการควบคุมศัตรูพืช เช่น การใช้ AI ประกอบกับข้อมูลจาก weather station
“ทรู-เอไอเอส”ทรานส์ฟอร์มบริการลูกค้า
นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า AI ช่วยให้ทรูทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ลูกค้าได้ในทุกบริการโดยหลักการออกแบบ AI คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลากหลายแหล่ง บนพื้นฐานของจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนำมาสร้างระบบอัตโนมัติที่ตอบสนองแบบเรียลไทม์
ทรูดึง AI มาช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ทั้งได้พัฒนาผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะชื่อ “Mari” (มะลิ) ที่เป็นผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ AI ที่สื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ให้ความช่วยเหลือ
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า ความพยายามของเอไอเอสที่ต้องการก้าวสู่ Cognitive Telco ต้องมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องเอไอเอสได้นำเอา AI มาบริการลูกค้าเปิดตัว “ACARE” หรือ AI Voice Bot สำหรับการให้บริการลูกค้าที่เข้ากับการใช้งานของแต่ละบุคคล
สิ่งสำคัญ คือ เอไอเอส ดึง AI มาใช้ในการดูแลโครงข่ายผ่านบริการ LIVING NETWORK หรือเน็ตเวิร์กที่ลูกค้าเป็นผู้ควบคุม เลือกและออกแบบการใช้งานได้เองตามไลฟ์สไตล์ ซึ่ง AI จะช่วยวิเคราะห์การใช้ของลูกค้าและนำเสนอแพคเก็จที่ตรงกับการใช้งานมากที่สุด
ทอท.นำร่องระบบ Biometric
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความแออัดในขั้นตอนต่างๆ โดยขณะนี้ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ซึ่งนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร
โดยระบบ Biometric ได้เริ่มใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2567 ณ สนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ช่วยลดระยะเวลาในการใช้บริการของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานของ ทอท.เหลือ 1 นาที จากเดิม 3 นาที ซึ่งลดระยะเวลาการตรวจพาสปอร์ตเทียบกับใบหน้าได้เร็วมาก