กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หนุนใช้เทคโนโลยีป้องทุจริต สร้างเกราะทางการเงิน
”ธรรมนัส" ชูเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินขับเคลื่อนสหกรณ์เข้มแข็ง มุ่งการบริการก้าวสู่สหกรณ์ยุคใหม่ รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ป้องทุจริต พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริต 10 เขตทั่วประเทศ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการบัญชี 77 จังหวัด
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคโนโลยีกับการขับเคลื่อนสหกรณ์เข้มแข็ง” ว่า เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์และเกษตรกร ให้สามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีในการบริหารจัดการ โดยการส่งเสริมและผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการนำระบบสหกรณ์เป็นกลไกในการยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เน้นการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้แก่สถาบันสหกรณ์ เกษตรกร และประชาชน เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์อย่างง่าย ต่อการวางแผน พยากรณ์อนาคต และตัดสินใจดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการยกระดับศักยภาพของผู้บริหารในการใช้ข้อมูลทางการเงินมาบริหารจัดการ สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่สถาบันสหกรณ์ ปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวม 9,653 แห่ง สมาชิก 11.97 ล้านคน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบัญชีที่เป็นประโยชน์มาสนับสนุนการดำเนินงานในสหกรณ์และให้บริการสมาชิก เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีและพัฒนาสู่สหกรณ์ที่มีความทันสมัย สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก ซึ่งกรมฯ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ นวัตกรรม SmartMember ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา และลดความเสี่ยงการเกิดทุจริตได้ ขณะนี้ มีจำนวนผู้เข้าใช้งานแล้ว 230,942 ราย ตลอดจน พัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีและโปรแกรมต่าง ๆ อีกด้วย
“การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมในการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้ง ได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำงานควบคู่กัน เพื่อพัฒนาสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร ให้เกิดความเข้มแข็ง เนื่องจากสหกรณ์มีตัวเลขหมุนเวียนกว่า 4 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเม็ดเงินก้อนโต ดังนั้น จะทำอย่างไงให้เม็ดเงินก้อนนี้เติบโต และสร้างความเข้มแข้งให้กับสมาชิกของสถาบันเกษตรกรนั้นๆ”
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยปฏิบัติภารกิจหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งตามแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกัน ป้องปรามการทุจริต และยกระดับสหกรณ์ ผ่านโครงการเร่งด่วน อาทิ
การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริต 10 เขตทั่วประเทศ และศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการบัญชี 77 จังหวัด การพัฒนาความเข้มแข็งและยกระดับการควบคุมภายในของสหกรณ์ ดำเนินการไปแล้ว 200 แห่ง และการตรวจประเมินการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตด้านดิจิทัลในสหกรณ์การเกษตร 1,500 แห่ง
อีกทั้งยังได้ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางบัญชีต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้สหกรณ์สามารถเข้าถึงข้อมูล การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อาทิ
1.โปรแกรมเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร CFSAWS:ss Version 2 เป็นเครื่องมือเตือนภัยและตรวจสุขภาพทางการเงินได้ด้วยตนเอง เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ทางการเงิน ความเสี่ยง มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใช้โปรแกรมแล้ว 1,417 แห่ง
2. โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) เพิ่มศักยภาพการจัดทำบัญชี มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใช้โปรแกรมแล้ว 1,802 แห่ง
3. นวัตกรรมด้านการเงินการบัญชี Smart4M เชื่อมโยงข้อมูลให้สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้บริหารสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ SmartManage สำหรับคณะกรรมการเพื่อใช้ข้อมูลบริหารงานสหกรณ์ SmartMonitor สำหรับผู้ตรวจสอบกิจการ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว ความผิดปกติทางการเงิน และ SmartMember สำหรับสมาชิกสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของตนเอง มีผู้เข้าใช้งานแล้ว 230,942 คน
และ 4. ศูนย์ข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินภาคสหกรณ์ไทย แหล่งข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ไทยที่บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล Big Data กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อนของภาคสหกรณ์ไทยต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและให้สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล
“ภารกิจสำคัญของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น และมีความซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ทำให้กรมต้องวางแผนรับมือและปรับเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตของสหกรณ์ ที่สำคัญ คือ
ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ถือเป็นความท้าทายที่กรมต้องยกระดับการทำงานสอบบัญชีให้ทันต่อมาตรฐานสากล ต้องพัฒนาเครื่องมือ เพื่อช่วยในการตรวจสอบและส่งเสริมให้สหกรณ์เห็นความสำคัญของระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยง รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันให้มีผู้ทำบัญชีที่มีความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้สหกรณ์เข้มแข็งอย่างยั่งยืน”