เศรษฐกิจโลก "ชะลอ" เศรษฐกิจไทย "ตกหล่ม"
เศรษฐกิจโลกในช่วงปลายไตรมาส 1 ปีนี้ ดูดีกว่าหลายฝ่ายคาด ล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ปรับตัวดีขึ้น นำโดยภาคบริการ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ที่ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้มาเป็น 3.1% เท่ากับปีก่อน จากสหรัฐและจีนเป็นหลัก
สาเหตุเศรษฐกิจโลกดูดีขึ้น เป็นเพราะเงินเฟ้อลดลง ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่ม ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐ ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งเกินคาด โดยการจ้างงานเดือนล่าสุดของสหรัฐสูงถึง 2.75 แสนตำแหน่ง
แม้ว่าหลายฝ่ายรวมถึงผู้เขียนมองว่า ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐอาจมีปัญหาการจัดเก็บก็ตาม ซึ่งตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้ค่าจ้างปรับสูงกว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเริ่มลดลง
อย่างไรก็ตาม ในตัวเลขหน้าฉากที่ดูดี ภายในเริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงมากขึ้น อัตราว่างงานเริ่มปรับสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่าย เช่น ยอดค้าปลีก ดัชนีภาคการผลิต และการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มชะลอลงหรืออยู่ในแดนลบต่อเนื่อง
นอกจากนั้น จุดเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงต่อไปได้แก่ภาคการเงิน ราคาอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ (เช่น อาคารสำนักงานให้เช่า) ในบางเมืองในสหรัฐ เช่น ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ค รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐและยุโรป ตกต่ำถึงกว่า 40-60%
ทำให้หนี้อสังหาฯ สงสัยจะสูญของธนาคารในสหรัฐพุ่งสูงขึ้น จนทำให้ทุนสำรองของธนาคารชั้นนำ เช่น Bank of America, Citi, Goldman Sachs รวมถึง Well Fargo ไม่เพียงพอต่อสินทรัพย์เสี่ยงภาคอสังหาฯ แล้ว
นอกจากนั้น ราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ที่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงดัชนีหุ้นสหรัฐที่ถูกดึงขึ้นด้วยหุ้นกลุ่มเจ็ดนางฟ้า (Magnificent 7) ที่เชื่อมโยงกับ AI ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูดีกว่าคาด และความคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว
ปัจจุบัน กว่า 70% ของบริษัทในสหรัฐ เริ่มลงทุนในโครงการทดลองที่เกี่ยวข้องกับ AI แต่เริ่มมีพนักงานใช้ AI ในการทำธุรกิจประมาณ 5-7% เท่านั้น โดยกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ เช่น IT, การศึกษา อสังหาฯ และบันเทิง ใช้ AI มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง จนกว่าการใช้ AI จะส่งผลดีต่อการผลิตเป็นวงกว้าง
แต่ในทางกลับกัน ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยยังอยู่สูงกว่าเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบการณ์ในอดีตบ่งชี้ว่า ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเช่นนี้ แต่ยังไม่มีปัจจัยใหม่มาทำให้ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญ ต้นทุนการเงินที่สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในระยะต่อไป
ด้านเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นฟื้นตัวขึ้นบ้าง โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งเป็นผลจากการท่องเที่ยวที่เพิ่งกลับมาโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน แต่ภาคการผลิตยังเสี่ยง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตยังอยู่ในแดนลบ ทำให้ผู้ผลิตจีนแก้เกมด้วยการกด (หรือ Dump) ราคาสินค้าทั้งในประเทศและส่งออก การทำดังกล่าวทำให้ส่งออกจีนกลับมาฟื้นตัวเกินคาดที่ 7.1%
แต่ก็ทำให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนมาก มีแนวโน้มจะ “นำเข้าเงินฝืด” จากจีนด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศ ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนีและสิงคโปร์ หรือแม้แต่สหรัฐที่มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนสูงถึง 15-27% และมีเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำหรือติดลบ
ภาพดังกล่าว ทำให้เงินเฟ้อโลกจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นนัก และเป็นส่วนให้ธนาคารกลางอาจลดดอกเบี้ยได้ในช่วงถัดไป แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตท้องถิ่นถูกตีตลาด
ในส่วนของไทย ในภาพเศรษฐกิจระยะสั้น อาจเริ่มเห็นสัญญาณ “ตกท้องช้าง” มากขึ้น กล่าวคือ ภาคเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว เช่น ภาคการผลิต ภาคเกษตร รวมถึงภาคส่งออก และการลงทุนเอกชน ก็เริ่มแย่น้อยลง แต่ภาคที่เคยดี เช่น ภาคการบริโภค หรือแม้แต่ภาคท่องเที่ยวเอง ก็เริ่มขยายตัวน้อยลงเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้เขียนจับตา 6 ปัจจัยเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นหรือชะลอลง อันได้แก่
(1) การผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันหดตัวมากว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม สินค้าคงคลังที่หมดลง โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ (ทั้งในระดับโลกและไทย) ทำให้เป็นไปได้ที่การผลิตจะเริ่มกลับมา แต่ผู้ผลิตไทยก็เสี่ยงจากการตีตลาดของผู้ผลิตจีนมากขึ้น
(2) การฟื้นตัวของส่งออกล่าสุด (โต 10% เดือน ม.ค.) ส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฐจักรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องติดตามว่าจะยั่งยืนหรือไม่
(3) เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และจะติดลบอีก 2 เดือนเป็นอย่างน้อย
(4) การลงทุนภาคเอกชน ที่ยังคงหดตัวตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องจับตาว่าการส่งออกที่ดีขึ้น จะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นจนเต็มกำลังการผลิต และผลักดันให้เอกชนหันกลับมาลงทุนได้หรือไม่
(5) รายได้เกษตรกร ที่เสี่ยงจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่สูญหายจากภาวะภัยแล้ง และ
(6) การบริโภคภาคเอกชน ที่องค์ประกอบสำคัญ ๆ เช่น ภาคบริการ ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ หดตัวจากการปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้น
อีกปัจจัยที่จะมีความสำคัญยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การเบิกจ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบลงทุน โดยหากการเบิกจ่ายสามารถเร่งตัวได้ดีใกล้เคียงกับที่กระทรวงการคลังมอง (อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ 64% คิดเป็นเม็ดเงิน 4.5 แสนล้านบาท) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.0% จากการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น แต่หากการเบิกจ่ายต่ำกว่าคาด เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5%
แต่สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว ผู้เขียนกังวลกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่กำลังตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (คือเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากความยากจน แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศเจริญแล้วได้)
เนื่องจากเผชิญกับ 3 ปัญหาหลัก คือ
(1) นโยบายการเงินที่ตึงตัว ผลจากการที่ ธปท. พิมพ์เงินน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเพื่อนบ้าน และค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง (NEER) แข็งเกือบ 20% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
(2) นโยบายการคลังที่ตึงตัวเกินไป จนทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนแทบต่ำที่สุดในภูมิภาค และ
(3) ภาวะสังคมสูงวัย โดยอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 40.2 สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยไม่น่าสนใจลงทุนทั้งในแง่ของการเติบโตของตลาดและกำลังแรงงาน
โลกชะลอสู่ Soft landing ไทยตกกับดักรายได้ปานกลาง เหล่านี้คือสิ่งที่คาดหวังได้ในภาพเศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงต่อไป
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่