กีดกันการค้าไม่สะเทือน ! นักวิเคราะห์ชี้ จีนยังสำคัญต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก

กีดกันการค้าไม่สะเทือน ! นักวิเคราะห์ชี้ จีนยังสำคัญต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก

นักวิเคราะห์ชี้ แม้หลายประเทศพยายามตัดสัมพันธ์การค้ากับจีน จนทำให้การค้าโดยรวมกับจีนลดลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนยังคงยืนหนึ่ง เป็นคู่ค้าสำคัญในหลายประเทศ และมีอิทธิพลในห่วงโซ่คุณค่าของโลก

อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในกรุงมะนิลา ประเทศมาเลเซีย เผยกับซีเอ็นบีซีว่า จีนยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญรายหนึ่งสำหรับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก แม้การค้าโดยรวมกับจีนในบางประเทศจะลดลง แต่การมีส่วนร่วมและการเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกของจีนยังไม่ลดน้อยลง

การค้าของจีนกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ลดลงในปี 2566 โดยการส่งออกรายปีลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าจีนลดลง ท่ามกลางเศรษฐโลกที่ชะลอตัว แต่วิลสัน เซ็นเตอร์ สถาบันคลังสมองของสหรัฐ ระบุว่า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งนี้ยังคงเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ในกว่า 120 ประเทศ และยังคงเป็นพาร์ตเนอร์การค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม

พาร์คกล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่บางประเทศ หรือบริษัทจำหน่ายสินค้าบางอย่างพยายามจำกัดการค้ากับจีนอย่างแข็งขัน แต่เมื่อดูการค้าในระดับโลก ความพยายามตัดสัมพันธ์การค้ากับจีนเห็นได้น้อยมาก แม้ความขัดแย้งทางการค้าเริ่มต้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2561 แต่ในห่วงโซ่คุณค่า ประเทศจีนไม่เคยสำคัญน้อยลงเลย

ในปี 2561 ทรัมป์ขึ้นอัตราภาษีและตั้งกำแพงทางการค้ากับจีนหลายอย่าง แต่จีนยังคงมีสัดส่วนการค้าขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วน 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก ซึ่งยังคงทำให้จีนเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

หลังถูกจำกัดการค้า จีนหันมาพึ่งพาตนเอง จึงนำเข้าน้อยลง แต่ยังคงรักษาอุปสงค์จากต่างชาติได้ และได้ขยายการส่งออกที่ช่วยหนุนการเติบโตของประเทศ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยในแถลงการณ์ในเดือนนี้ว่า “ปัจจัยหลายอย่างบ่งบอกว่า การตัดสัมพันธ์ด้านกระบวนการผลิตและการบริโภคจากจีนในระดับโลกยังไม่เกิดขึ้น”

ขณะที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) พิจารณากำหนดมาตรการคว่ำบาตรบริษัทจีนที่เชื่อว่าช่วยเหลือรัสเซียทำสงครามกับยูเครน ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้อาจกระทบเศรษฐกิจจีนที่พยายามหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาหลังการแพร่ระบาดโควิด แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในจีนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงต่อสู้กับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์

เอเชียที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนอาจได้รับผลกระทบ

พาร์คเตือนว่า เนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้าระดับโลกของจีนนั้นยังคงครอบคลุมกว้างขวาง ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยากลำบาก สร้างความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมทางการค้าในเอเชีย

นักเศรษฐศาสตร์จากเอดีบีกล่าวว่า จีนยังคงเป็นผู้สร้างความเสี่ยงด้านอุปสงค์ที่สำคัญ เพราะยังคงเกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจจีน

เอดีบีมีหลักคำนวณอย่างง่าย ระบุว่า หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 1% จะทำให้ความต้องการส่งออกลดลงประมาณ 0.3%

ปัจจัยอื่น ๆ อย่างการคาดการณ์ว่าเศรษฐโลกเติบโตชอละตัวนั้น ก็เป็นอุปสรรคต่อระบบนิเวศเศรษฐกิจเอเชียเช่นกัน เพราะจะทำให้ความต้องการภายนอกภูมิภาคลดลง และฉุดการส่งออกของเอเชียตามมา

อย่างไรก็ตาม พาร์คคาดว่า ธุรกิจแผงวงจรเซมิคอนดักเตอร์จะฟื้นตัว ซึ่งอาจสร้างความหวังให้กับผู้ส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ขณะที่ความต้องการในสหรัฐ อียู และเศรษฐกิจอินเดียเติบโตแข็งแกร่ง อาจเป็นประโยชน์ต่อโอกาสทางการค้าของเอเชียได้เช่นกัน

อ้างอิง: CNBC