เทรนด์แรงต่อเนื่อง ! ชาวจีนลักลอบเข้าสหรัฐ ผ่านช่องทางธรรมชาติสุดหฤโหด

เทรนด์แรงต่อเนื่อง ! ชาวจีนลักลอบเข้าสหรัฐ ผ่านช่องทางธรรมชาติสุดหฤโหด

เทรนด์แรงต่อเนื่อง หลังพิษเศรษฐกิจจีน ทำประชาชนอยู่ไม่ไหว ต้องอพยพออกไปหางานต่างประเทศ และหนึ่งในประเทศที่นิยมคือสหรัฐ ซึ่งไม่ได้อพยพเข้าง่าย ๆ เพราะต้องลักลอบเข้าผ่าน Darien Gap ป่าทึบหฤโหดในโคลอมเบีย

KEY

POINTS

  • ในปี 2566 มีผู้อพยพมากกว่า 500,000 คนเดินทางข้าม Darien Gap ป่าทึบหฤโหดในโคลอมเบีย  ในจำนวนนี้มากกว่า 25,000 คนเป็นชาวจีน
  • คนจีนเรียกการอพยพยเดินทางข้ามป่าดาเรียนที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ว่า “โจวเซียน” (zouxian) ซึ่งเป็นการเดินทางที่ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากการล็อกดาวน์โควิด-19 กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง
  • ผู้อพยพชาวจีนจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนชาติอื่นเพราะผู้คนมองว่าเป็นกลุ่มชาติที่ร่ำรวย ดังนั้นอาจตกเป็นเป้าได้

เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมหลายส่วนรวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนไม่คึกครื้นเหมือนช่วงก่อนแพร่ระบาดโควิด 

เห็นได้จากรายงานที่ว่า คนจีนเที่ยวตรุษจีนมากขึ้นแต่ใช้จ่ายน้อยลง และแม้ธุรกิจบางส่วนสามารถฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ชาวจีนบางกลุ่มยังไม่สามารถใช้ชีวิตหรือใช้จ่ายได้เหมือนเคย นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่พออธิบายได้ว่า ทำไมคนจีนกลุ่มหนึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานนอกประเทศเพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว

สำนักข่าวอัลจาซีราห์อ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลปานามา รายงานว่า ในปี 2566 มีผู้อพยพมากกว่า 500,000 คนเดินทางข้าม Darien Gap ป่าทึบหฤโหดในนีคอกลี (Necocli) เมืองชายหาดในโคลอมเบียที่ใกล้กับชายแดนปานามาเส้นทางบกที่สำคัญเพียงแห่งเดียวในทางตอนใต้อเมริกาเหนือที่สามารถผ่านเข้าสู่สหรัฐได้

ที่สำคัญ ในจำนวนนี้มากกว่า 25,000 คนเป็นชาวจีน ถือเป็นกลุ่มสัญชาติขนาดใหญ่อันดับ 4 และเป็นกลุ่มสัญชาติใหญ่สุดนอกทวีปอเมริกาที่เดินทางข้ามพื้นที่ดังกล่าว

จูเซปเป โลเพรต หัวหน้าคณะผู้แทน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ในปานามา ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เก็บข้อมูลผู้อพยพข้ามดาเรียนบอกว่า การอพยพดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว 

"ผู้คนจำนวนมาก เดินทางมาอย่างยาวไกลเพื่ออพยพมาที่นี่  สำหรับเครือข่ายลักลอบขนคน นี่คือธุรกิจใหญ่" 

สำหรับผู้อพยพชาวจีน พวกเขาได้รับอภิสิทธิ์ที่แตกต่างไปจากคนชาติอื่น ๆ ที่พบในดาเรียน อย่างชาวเวเนซุเอลาและชาวเฮติ เพราะมักได้ใช้เส้นทางวีไอพีพิเศษในการข้ามพื้นที่ป่าโดยมีมัคคุเทศก์ที่ทำงานให้กับแก๊งกัลฟ์ แคลน กลุ่มค้ายารายใหญ่ในโคลอมเบีย คอยนำทางให้ ซึ่งเส้นทางของกลุ่มค้ายาเดินทางได้รวดเร็วกว่าและเหนื่อยน้อยกว่าเส้นทางปกติ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง

กล่าวคือเป็นการเดินทางผสมผสาน ทั้งลงเรือ ขึ้นเขา หรือบางกรณีอาจต้องขี่ม้าตามแนวชายฝั่งทะเลแคริบเบียนหรือแปซิฟิก ใช้เวลาเดินทางเพียง 2-3 วัน เร็วกว่าการเดินทางในเส้นทางราคาถูกแต่ใช้เวลานานหนึ่งสัปดาห์

ขบวนการค้ามนุษย์ในนีคอกลีเผยว่า เส้นทางข้ามดาเรียนที่ถูกที่สุดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 350 ดอลลาร์ (ราว 12,600 บาท) หากยิ่งใช้เส้นทางข้ามแดนโดยตรง ตามแนวชายฝั่งปานามาที่ผ่านเมืองต่าง ๆ อย่างคาร์เรโตและโคตูโป ตรงไปถึงศูนย์ต้อนรับผู้อพยพปานามาเสียค่าใช้จ่าย 850 ดอลลาร์ (ราว 30,600 บาท)

ในกรณีที่เดินทางไปยังเกาะซานอันเดรส ที่ห่างจากนิการากัวเพียงไม่กี่ชั่วโมง หากเดินทางด้วยเรือนั้น  ราคาสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 180,000 บาท และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มค้ายาหลายสิบล้านดอลลาร์

หลังจากจ่ายเงินทั้งหมดแล้ว ผู้อพยพต้องมุ่งหน้าขึ้นหน้าผ่านส่วนต่างๆ ของอเมริกากลาง ฝ่าฟันการฉ้อโกง หลอกลวง ขโมย และความรุนแรง มุ่งหน้าสู่พรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโกให้ได้ 

เทรนด์แรงต่อเนื่อง ! ชาวจีนลักลอบเข้าสหรัฐ ผ่านช่องทางธรรมชาติสุดหฤโหด

ทำไมต้องออกจากประเทศจีน?

ผู้สื่อข่าวอัล จาซีราห์ใช้เวลาสองวันในเมืองนีคอกลี สังเกตว่า ผู้อพยพชาวจีนหลายสิบคนกำลังเตรียมการเดินทาง มีทั้งวิศวกร ครู และโปรแกรมเมอร์ 

หลังเวลาประมาณ 8.00 น. ผู้อพยพชาวจีนรีบออกจากแมนชัน เดล ดาเรียน ซึ่งเป็นโรงแรมโทรม ๆ  ห่างจากชายฝั่งแคริบเบียน 2-3 ช่วงตึก เพื่อขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก 3 คันที่จอดรอบนถนน

กาเบรียลา เฟอร์นันเดซ พนักงานต้อนรับเผยว่า “โรงแรมเต็มไปด้วยคนจีนทุกวัน มีคนจีนกลุ่มใหญ่ ๆ เดินทางมาพักด้วยกันที่นี่ตลอดเวลา และเป็นแบบนี้มาหลายเดือน”

เมื่อมองไปที่ด้านหลังของเฟอร์นันเดซ ผู้สื่อข่าวเห็นป้ายที่เขียนอธิบายราคาโรงแรมและนโยบายต่างๆ ด้วยภาษาจีน แถมยังมีจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ดที่นำเข้าจากจีนด้วย โดยผู้อพยพสามารถชำระเงินผ่านวีแชท แอปโซเชียลมีเดียจีนได้อย่างสะดวก

ภาพที่เห็นคือ กลุ่มนักเดินทางวัยกลางคน ต่างสวมใส่หมวก แบกเต็นท์ และไม้เท้าเดินป่า เพื่อเตรียมเดินทางเข้าป่าดาเรียน แต่ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้แต่งตัวลักษณะนี้ทุกคน บางคนใส่เพียงรองเท้าแตะแบรนด์คร็อคส์ (Crocs) และแบกกระเป๋าเป้เล็กๆ ที่หุ้มด้วยถุงพลาสติก

อู๋ เซียวหัว ชายวัย 42 ปี จากมณฑลหูหนาน  ยืนรอเรือกับเพื่อนบนชายหาดเพื่อเดินทางไปปานามา เผยว่า เลือกเดินทางด้วยหนึ่งในเส้นทางที่รวดเร็วนี้ เพราะอยากไปถึงสหรัฐไว ๆ และเริ่มงานได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เซียวหัวเล่าว่า ตนเคยย้ายไปทำงานในเซี่ยงไฮ้เป็นคนขับรถแท็กซี่ แต่โควิดระบาด ชีวิตของเขาก็ลำบาก

“เศรษฐกิจในประเทศเรามีปัญหาใหญ่ ๆ หลายอย่าง เราไม่มีทางเลือก แต่เราต้องอยู่รอดให้ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราอยากไปสหรัฐ และสหรัฐก็มีสิ่งที่ตรงกับความต้องการพื้นฐานของเรา เราสามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ มีที่อยู่อาศัย ลูกก็สามารถไปโรงเรียนได้ และครอบครัวเราได้รับความปลอดภัย” เซียนหัว กล่าว

ขณะที่หวง ผู้อพยพอีกคนที่ประสงค์เผยเพียงนามสกุลบอกว่า เธอออกจากปักกิ่งเมื่อสองเดือนก่อน หลังมาตรการล็อกดาวน์โควิดทำให้เธอตกงานและไม่สามารถอยู่รอดได้ในแต่ละวัน

“ฉันขายทุกอย่างที่มี ตอนอยู่ในจีน เราได้รับการปฏิบัติเหมือนสัตว์ที่อยู่ในกรง” หวง กล่าว

คนจีนเรียกการอพยพยเดินทางข้ามป่าดาเรียนที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ว่า “โจวเซียน” (zouxian) ซึ่งเป็นการเดินทางที่ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากการล็อกดาวน์โควิด-19 กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง

มิน โจว ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและเอเชีย-อเมริกันศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแอนเจลิส บอกว่า การอพยพของคนจีนขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจจีนถดถอย ผู้คนว่างงาน และเกิดความไม่พอใจต่อนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน

อ้าย เว่ยเว่ย นักเคลื่อนไหวและศิลปินผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน ที่หนีออกจากประเทศเมื่อในปี 2558 มองว่าปรากฏการณ์อพยพย้ายไปยังสหรัฐเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่น้อยลง

“ปกติแล้ว คนทั่วไปในจีนไม่ค่อยกล้าออกจากประเทศมากนัก นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนยอมทรมานเดินทางผ่านป่าดงดิบ พร้อมพาลูกๆไปด้วย” อ้าย กล่าว

หวัง เซิงเซิง ชายชาวจีนจากมณฑลชิงไห่วัย 49 ปี เผยว่า การตัดสินใจออกจากจีนมาจากการพิจารณาแล้วหลายสาเหตุ

หลังจากทำงานเป็นทั้งครูและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในเมืองกว่างโจว เขารู้สึกว่าตนไม่สามารถพูดได้อย่างเสรี เพราะการปราบปรามอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น

ขณะที่เดียวกัน เซิงเซิง คุณพ่อที่มีลูกวัย 12 ปีอาศัยอยู่ในจีนกับอดีตภรรยา เชื่อว่าการใช้ชีวิตในแคลิฟอร์เนียอาจทำให้เขาได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง แม้ต้องผ่านป่าดาเรียน ซึ่งต้องเดินทางขึ้นภูเขา ต้องข้ามแม่น้ำไหลเชี่ยวและต้องหลบเลี่ยงกลุ่มโจรติดอาวุธตลอดเส้นทาง 115 กิโลเมตรก็ตาม

เซิงเซิง เผยกับอัลจาซีราห์ ขณะจิบชาในนีคอกลีว่า

“ผมได้รับแรงผลักดันให้ทำสิ่งนี้ ชาวจีนส่วนใหญ่ขอวีซ่าไปอเมริกาได้ยากมาก แต่ผมไม่แยแสอะไรกับจีนแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกเราต้องมาที่ป่านี้”

เทรนด์แรงต่อเนื่อง ! ชาวจีนลักลอบเข้าสหรัฐ ผ่านช่องทางธรรมชาติสุดหฤโหด

ผู้อพยพจีนเผชิญความเสี่ยงในการลักลอบข้ามชายแดนสูง

ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐ ระบุว่า ปี 2566 มีชาวจีนมากกว่า 37,000 คน ถูกจับกุมข้อหาลักลอบข้ามชายแดนทางตอนใต้สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากปี 2565 และมากกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 2 เท่า

ในการเดินทางข้ามทวีปของชาวจีนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะการเดินทางออกจากจีนต้องใช้เวลาหลายเดือน และมีค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์ (ราว 61,000 บาท) โดยชาวจีนจำนวนมากจะเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังเมืองอิสตันบูลในตุรกี หรือกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาทางโลจิสติกส์น้อย 

ต่อมาเดินทางไปยังเอกวาดอร์ หนึ่งในประเทศละตินอเมริกาเพียงไม่กี่แห่งที่ให้วีซ่าฟรีแก่ชาวจีน จากนั้นเผชิญการเดินทางที่เต็มไปด้วยอันตรายไปยังดาเรียน เพื่อเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินทางทางบก

โลเพรต บอกว่า “ผู้อพยพชาวจีนจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนชาติอื่นเพราะผู้คนมองว่าเป็นกลุ่มชาติที่ร่ำรวย ดังนั้นอาจตกเป็นเป้าได้ และหากมีปัญหาด้านภาษา จะยิ่งลำบากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย”

ระหว่างเดินทางผู้อพยพชาวจีนมักถูกฉกฉวยผลประโยชน์จากกลุ่มค้ามนุษย์ เนื่องจากการทำร้ายร่างกายและการปล้นเกิดขึ้นเป็นปกติตามเส้นทางที่ไร้กฎระเบียบในปานามา

ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนในปานามายังไม่ได้ตอบคำถามว่าได้ให้การสนับสนุนพลเมืองในดาเรียนหรือไม่ แต่แถลงผ่านอีเมลกับอัลจาซีราห์ว่า

“จีนต่อต้านและปราบปรามกิจกรรมลักลอบเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง และให้ความร่วมมือกับนานาชาติในปฏิบัติการดังกล่าวอย่างแข็งขัน”

ขณะที่โจว ผู้ดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับผู้อพยพชาวจีนที่มาใหม่ในลอสแอนเจลิส พบว่า คนจีนที่ไม่มีเอกสารอนุญาตจำนวนมาก แตกต่างจากคลื่นผู้อพยพในยุค 1980 และ 1990 อย่างเห็นได้ชัด

“ตอนนี้พวกเขามาจากทั่วประเทศจีน เป็นคนมีทักษะ บางคนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้วย”

ผู้อพยพบางคนที่ให้ข้อมูลกับโจวเผยว่า ถูกหลอกให้เชื่อว่าพวกเขาสามารถหางานที่มีรายได้ 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 361,000 บาท) ได้ง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริง หลายคนหางานได้ยากลำบากเพราะนายจ้างกังวลเกี่ยวกับการจ้างงานคนที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน

อ้างอิง: Al Jazeera