‘ไทย-สหรัฐฯ‘ ตั้งคณะทำงานร่วม เจรจาเศรษฐกิจ - ดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์
ไทย-สหรัฐฯ เดินหน้าสัมพันธ์เศรษฐกิจ ตั้งทีมคุยรายละเอียดความร่วมมือเชิงลึกอุตสาหกรรมเป้าหมาย ม.ล.ชโยทิต เป็นประธาน เล็งดึงเซมิคอนดักเตอร์ ต้นน้ำ พร้อมใช้กองทุนขีดความสามารถดึงลงทุน “เศรษฐา”ชูความพร้อมทั้งพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน มั่นใจดึงบริษัทชั้นนำลงทุน
KEY
POINTS
- รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยพร้อมนำนักธุรกิจจากสภาผู้ส่งออกของสหรัฐฯมาไทยเพื่อหาโอกาสลงทุน
- นายกฯเศรษฐายืนยันไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนจากสหรัฐฯ และขอให้สหรัฐฯช่วยส่งเสริมการลงทุนอุตฯเป้าหมาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซนเตอร์ และอีวี
- สองประเทศตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหารือในรายละเอียด โดยไทยตั้งม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธาน
- ไทยพร้อมใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันอุดหนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำเพื่อดึงบริษัทขนาดใหญ่มาลงทุน
วานนี้ (14 มี.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ณ ทำเนียบรัฐบาล รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการหารือกันครั้งนี้มีการหารือกันในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯหลายด้าน
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะมีการลงทุนเช่นโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญของภูมิภาคจึงขอเชิญชวนให้นักลงทุนจากสหรัฐฯเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะสาขาที่สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดาต้าเซนเตอร์ อีวี และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งหวังว่าไทยจะสามารถเป็นประเทศที่มีการลงทุนสูงสุดในไทยได้
ทั้งนี้การเดินทางมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯมาพร้อมกับนักธุรกิจหลายรายที่เป็นสมาชิกของสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ซึ่งมีนักธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมซึ่งให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งทั้งสองประเทศมีความเห็นตรงกันที่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไปโดยในส่วนของประเทศไทยนั้นนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิตกฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นประธานโดยจะมีการประชุมและกำหนดรายละเอียดในประเด็นความร่วมมือเศรษฐกิจกับทางสหรัฐฯต่อไป
พร้อมใช้กองทุนเพิ่มขีดแข่งขัน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าในการหารือประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯในครั้งนี้มีการหารือกันหลายด้านรวมทั้งความร่วมมือในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการหารือกันในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้นอกจากสิทธิประโยชน์ต่างๆที่บีโอไอสามารถให้ได้นั้นสามารถใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการอุดหนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนได้หรือไม่เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถใช้ได้ เช่นเดียวกับที่เราใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่อีวีซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ก่อนหน้านี้นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐดำเนินการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และกล่าวเสริมว่าบริษัทอเมริกันพร้อมที่จะ “เร่งการลงทุน” ในไทย
“ขณะที่บริษัทข้ามชาติของสหรัฐพิจารณาที่จะกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ประเทศไทยก็กลายเป็นสถานที่ที่ติดอันดับต้น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เราทุกคนต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ นี่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ทั้งสหรัฐ ไทย และทุกประเทศใน IPEF ที่จะกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์”
พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่าการผลิตเซมิคอนดักเตอร์นั้นกระจุกตัวอยู่ในเพียงหนึ่งหรือสองประเทศในโลกอย่างอันตราย พร้อมย้ำว่าสหรัฐจะผลักดันการลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการผลิต ทั้งนี้ IPEF ซึ่งนำโดยสหรัฐ มีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน โดย IPEF ประกอบด้วย 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2565 สหรัฐได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) ซึ่งจัดสรรงบประมาณ 5.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผลิต วิจัย และพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ
รายงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ปี 2566 ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้จากบริษัท สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กระบวนการผลิตขั้นปลาย (back-end) แต่พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้ดึงดูดการย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง และทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะมีบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีระดับกลางน้ำและต้นน้ำเข้ามาลงทุนมากขึ้น