รมว.พาณิชย์สหรัฐยัน สร้างความหลากหลายซัพพลายเชนไทยได้ประโยชน์

รมว.พาณิชย์สหรัฐยัน สร้างความหลากหลายซัพพลายเชนไทยได้ประโยชน์

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวกับหอการค้าอเมริกัน สหรัฐพยายามสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน ประเทศไทยทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาอยู่ท็อปลิสต์

เมื่อวันพุธ (13 มี.ค.) จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวในงานเสวนาของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยว่า การเยือนไทยครั้งนี้สำคัญมาก เธอได้นำคณะสภาผู้ส่งออกของประธานาธิบดีมาด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่สภาผู้ส่งออกมาเยือน โดยเลือกประเทศไทยเพราะความสำคัญในแง่ที่ว่า สองประเทศมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

สหรัฐเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย เป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อันดับสามหรือสี่ในประเทศไทย ด้วยรากฐานอันแข็งแกร่งจึงถึงเวลาแล้วที่สหรัฐต้องอัดฉีดการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อเร่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสาขาสำคัญ

“อย่างที่คุณทราบ สหรัฐพยายามสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน ประเทศไทยทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาอยู่ท็อปลิสต์ของบริษัทสหรัฐ” ไทยแข็งแกร่งอยู่แล้วในด้านบริษัทที่ให้บริการเข้าแพ็กเกจชิปและตรวจเช็กการทำงานของชิป แต่สหรัฐอยากสร้างความร่วมมือเพิ่มเติมด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด ทุกสาขาน่าสนใจอย่างยิ่ง

นอกจากนี้สหรัฐยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการทำการค้าในรูปแบบดิจิทัลให้มากขึ้น ซึ่งไทยดำเนินการสอดคล้องสหรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องไซเบอร์ เอไอ การคุ้มครองด้านไอที ถ้ารัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าไปในทิศทางนี้ย่อมเป็นประเทศที่สหรัฐต้องการร่วมงานให้มากกว่าเดิม 

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวด้วยว่า นักธุรกิจที่ร่วมคณะมาไทยเพื่อมาเรียนรู้และหาโอกาสทางธุรกิจ นับจากนี้ไปไม่นานจะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ผลจากความสัมพันธ์ที่ได้จากการเยือนครั้งนี้

รมว.พาณิชย์สหรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าของ IPEF  ที่เพียงแค่ 24 เดือนนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัว รัฐบาล 14 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในด้านซัพพลายเชน การลดก๊าซคาร์บอน โครงสร้างพื้นฐาน ภาษีและการต่อต้านทุจริต

“ดิฉันไม่เคยเห็นรัฐบาลเคลื่อนไหวได้เร็วอย่างนี้มาก่อน นี่คือโครงการใหม่ เป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างรัฐบาล”

เหตุผลที่สามารถสรุปข้อตกลงกันได้เร็วขนาดนี้คือสามเสาหลักที่กล่าวมา ไรมอนโดกล่าวว่า IPEF จะเพิ่มการค้าการลงทุนที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และในไม่กี่ปีข้างหน้านักลงทุนสหรัฐรวมถึงนักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จาก IPEF เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ จะเข้ามาลงทุนด้านซัพพลายเชนและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยมากขึ้น

เดือนมิ.ย. ปีนี้จะมีการจัดเวทีนักลงทุน IPEF ขึ้นเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ ถือเป็นโอกาสใหญ่สำหรับประเทศอย่างไทยที่จะได้เข้าร่วมนำเสนอโครงการลงทุน โครงการโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนที่ไทยให้ความสำคัญ อยากให้ภาคเอกชนเขามาลงทุน

สำหรับกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ของสหรัฐนั้น ไรมอนโดอธิบายว่า ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์

เธอทราบมาว่ารัฐบาลไทยให้ความเศรษฐกิจขับเคลื่อนทุกอย่างไปสู่ความเป็นเอไอและดิจิทัลซึ่งต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ปริมาณมหาศาล

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่เราผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้ไม่เพียงพอ แต่ยังกระจุกตัวมากไปแค่หนึ่งหรือสองประเทศในโลก ซึ่งถือว่าอันตราย ดังนั้นเราจึงต้องร่วมมือกันแล้วประโยชน์จะเกิดแก่ทุกคน”

สหรัฐ ไทย และทุกประเทศในอาเซียนจะต้องสร้างความหลากหลายให้กับซัพพลายเชนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐลงทุนมหาศาลเพื่อกระตุ้นการผลิตด้านนี้ซึ่งจะสร้างโอกาสมหึมาให้กับอีโคซิสเต็มเซมิคอนดักเตอร์ส่วนที่เหลือ, วัสดุ, เคมีภัณฑ์, การออกแบบ, การทดสอบ, การบรรจุ โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับประเทศสมาชิก IPEF ก่อน เมื่อต้องลงทุนเพิ่มในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์

  • เอกชนปลื้มไทยก้าวกระโดดสู่ดิจิทัล

ชามินา ซิงห์ ประธานผู้ก่อตั้งศูนย์การเติบโตแบบครอบคลุม และรองประธานบริหารด้านความยั่งยืนของมาสเตอร์การ์ด เผยว่า นี่เป็นการมาประเทศไทยครั้งแรกที่น่าประทับใจอย่างมาก แม้เพิ่งมาถึงก็รู้สึกได้ถึงความตื่นตัวในประเทศไทย ได้รับรู้ว่าประเทศไทยเปิดกว้างต้อนรับภาคธุรกิจ รมว.พาณิชย์สหรัฐยัน สร้างความหลากหลายซัพพลายเชนไทยได้ประโยชน์

ผู้บริหารมาสเตอร์การ์ดกล่าวว่า จุดแข็งของไทยคือความเป็นดิจิทัล การมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีอนาล็อกมุ่งตรงสู่ความเป็นดิจิทัล

“เป็นความน่าประทับใจอย่างยิ่ง อย่างที่เราไม่เคยเห็นในตลาดอื่นๆ นี่คือจุดแข็งของไทยอย่างมาก” ส่วนความท้าทายผู้บริหารรายนี้มองว่า การรักษาความเป็นผู้นำทางด้านนี้แล้วลงทุนทั้งด้านนโยบายและกฎหมาย เพื่อสร้างหลักประกันว่าไทยยังเดินหน้าทำเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ

ส่วนการที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น ผู้บริหารมาสเตอร์การ์ดไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา

“เคล็ดลับอยู่ที่ต้องมั่นใจได้ว่ามีคนหนุ่มสาวที่แข็งแกร่งอยู่กับคุณตลอดเวลา” มาสเตอร์การ์ดเชื่อว่า คนสูงวัยกับคนหนุ่มสาวสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ สิ่งที่ได้จากสังคมสูงวัยคือเสถียรภาพ ความมั่นคง ทิศทาง และนวัตกรรม เมื่อคนหนุ่มสาวเข้ามาย่อมเป็นโอกาส ดังนั้นการเป็นสังคมสูงวัยไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจสำหรับประชากรเฉพาะกลุ่ม