‘เศรษฐา’ ถก ‘รมว.พาณิชย์ สหรัฐ’ ดันขึ้นแท่นนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย

‘เศรษฐา’ ถก ‘รมว.พาณิชย์ สหรัฐ’ ดันขึ้นแท่นนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย

"เศรษฐา" เปิดทำเนียบรับ รมว.พาณิชย์ สหรัฐ และภาคเอกชน เจรจาดึงการลงทุนหลายด้าน เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ หวังสหรัฐ ขึ้นแท่นนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย

วันนี้ (14 มี.ค.67)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หารือกับนางจีนา เอ็ม.เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ ณ ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่เคยพบกันแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ซานฟรานซิสโก ก่อนพบกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (The President’s Export Council: PEC)

ทั้งนี้รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ถือว่าเป็นหญิงเก่ง และแกร่งได้ผลักดันเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง เช่น การออกกฎหมาย Infrastructure Investment and Jobs Act และส่งเสริมทั้งภาคธุรกิจ และแรงงาน การสร้างงานที่มีคุณภาพ และการส่งเสริมขีดความสามารถ และนวัตกรรมของผู้ประกอบการ

 

เราได้หารือกันถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ทางสหรัฐ เป็นผู้นำการขับเคลื่อน นอกจากนี้ เรายังได้หารือกันถึงแนวทางที่จะขยายโอกาสด้านการค้า และการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของเรา เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล

‘เศรษฐา’ ถก ‘รมว.พาณิชย์ สหรัฐ’ ดันขึ้นแท่นนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย

โดยเมื่อวันก่อนท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม ว่า แม้ว่าตอนนี้การลงทุนจากสหรัฐในไทยจะอยู่อันดับที่ 3 แต่หากเราทำถูก ทำถึง เราสามารถเป็นเบอร์ 1 ได้ครับ ทั้งนี้ ทางสหรัฐมีความตั้งใจที่จะ Supercharge การลงทุนในภูมิภาคนี้ และถ้าทั้งไทย และสหรัฐ รวมถึงประเทศใน IPEF ร่วมมือกันในเรื่องการผลิต Semiconductor ทั้ง supply chain ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน และแน่นอนว่า การลงทุนจากสหรัฐในไทยจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

หลังจากหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ผมได้พบกับคณะ PEC หรือ (The President’s Export Council ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน และองค์กรสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐ ในด้านนโยบาย และโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า

ทั้งนี้ นาย Mark Ein ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Kastle Systems ประธาน PEC นำคณะ PEC รวม 10 ราย เช่น Mastercard, Boston Consulting Group, Kearney, Coastal Construction Group, มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และ EXIM Bank เข้าพบด้วยครับ คณะ PEC มาประเทศไทยเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำท่านประธานาธิบดีสหรัฐ และจะเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชนด้วย

โดยทาง PEC มีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยเฉพาะในสาขาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และ supply chain การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว นอกจากการให้ข้อมูล และแลกเปลี่ยนมุมมองแล้ว

‘เศรษฐา’ ถก ‘รมว.พาณิชย์ สหรัฐ’ ดันขึ้นแท่นนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทย

ตนได้นำเสนอโครงการ Landbridge และวิสัยทัศน์ Thailand Vision 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจด้านการลงทุนของสหรัฐ ทั้งในเรื่อง พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า รถ EV เศรษฐกิจสีเขียว และดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการจัดตั้ง data center เพื่อสนับสนุน Cloud First Policy ด้วยครับ โดยที่ภาคธุรกิจ ทั้งสองฝ่ายจะมีการทำ workshop ร่วมกัน จัดโดยสถานทูตอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อเรียงลำดับความสำคัญ และเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่  

โอกาสนี้ นาย Mark Ein ประธาน PEC และคณะผู้แทน ได้แนะนำตัวต่อนายกรัฐมนตรี และต่างชื่นชมในบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลักดัน และดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทย และสหรัฐ ให้ความสำคัญร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น 

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะยังดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าการเยือนของคณะ PEC ซึ่งเป็น fact-finding visit จะทำให้สหรัฐ เห็นถึงโอกาส และศักยภาพของไทย พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่ ผ่านการยกระดับการค้าการลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง และยืดหยุ่นของสหรัฐ พร้อมเชื่อมั่นว่า การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีในการส่งเสริมโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน และองค์กรสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐ มีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐ ในด้านนโยบาย และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการเยือนของคณะ PEC ครั้งนี้เป็น fact-finding visit เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์