ส่อง ‘รากปัญหา’ วงจรอุบาทว์หนี้ครู มากกว่าแค่ ‘ฟุ่มเฟือย’ ส่วนตัว ?
ส่องรากปัญหาหนี้ครูไทยที่มากกว่าแค่ ความฟุ่มเฟือย
KEY
POINTS
- ปัจจุบันครูในประเทศมีจำนวน 9 แสนคนซึ่ง 80% หรือประมาณ 7.2 แสนคน มีหนี้สินรวมกันมาก 1.4 ล้านล้านบาท
-
หนี้ครัวเรือนไทยต้นปี 2567 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท
-
ครูหลายคนเหลือเงินใช้ต่อเดือนไม่ถึงห้าร้อยบาท หรือบางคนติดลบหรือเหลือศูนย์บาท จนนำไปสู่การกู้ยืมนอกระบบต่อเนื่อง
“เป็นครูกู้ง่าย” คือประโยคที่หลายคนได้ยินจนคุ้นหู ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคงหรือเงินเดือนที่แม้จะน้อยในช่วงแรกแต่ก็มีโอกาสเติบโตขึ้นตามขั้นบันได อย่างไรก็ตามถึงแม้การกู้ง่ายนั้นอาจนำมาสู่สภาพคล่องของครูที่มีมากขึ้น แต่ก็ทำให้ “ภาระหนี้ครู” พุ่งสูงขึ้นจนเกิดปัญหาเชิงสังคมตามมาเช่นเดียวกัน
กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ว่า ปัจจุบันครูในประเทศมีจำนวน 9 แสนคนซึ่ง 80% หรือประมาณ 7.2 แสนคน มีหนี้สินรวมกันมาก 1.4 ล้านล้านบาท และเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูไทย คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มูลค่า 8.9 แสนล้านบาทหรือ 64% ของยอดหนี้ทั้งหมดด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.64%
หากถามถึงสาเหตุที่ทำให้ครูเป็นอาชีพที่ก่อหนี้มากที่สุดอันดับต้นๆ ในประเทศ ถ้ามองอย่างผิวเผินอาจสรุปได้ว่าอาชีพครูสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายเพราะเป็นอาชีพครูมีความมั่นคงสูงเงินเดือนขึ้นทุกเดือนและปรับสูงขึ้นตามขั้นบันไดไปจนถึงวันเกษียณจนได้ชื่อว่า “ลูกหนี้ชั้นดี” จนครูนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต
แต่หากจะชี้เพียงว่าปัญหาทั้งหมดเป็นเพราะความฟุ่มเฟือยของครูก็อาจเป็นการสรุปที่ไร้เดียงสาจนเกินไปเพราะแท้จริงแล้วมีปัญหาเชิงโครงสร้างภายใต้ “ก้อนหนี้ของครู” มหาศาล
โรงเรียนเล็ก งบน้อย ครูเงินเดือนต่ำ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย
เพื่อเข้าใจปัญหาทั้งหมดในภาพกว้างก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โรงเรียนในประเทศไทยมี 4 สังกัดหลัก คือ
1. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
2. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ)
4. สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
โรงเรียนในแต่ละสังกัดมีความท้าทายและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างปัญหาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ “หลักคิด” ในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อแจกจ่ายให้แต่ละโรงเรียนที่ใช้เพียง “จำนวนนักเรียน” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่คำนึงถึงความท้าทายอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ตั้งของโรงเรียน
ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีทั้งหมดสามหมื่นแห่ง ครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่าร้อยยี่สิบคน แต่ส่วนกลางกลับแจกจ่ายงบฯ โดยนำจำนวนนักเรียนเป็นตัวหาร หรือนำจำนวนนักเรียนเป็นตัวคูณ จึงทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนมากได้เปรียบ ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยก็ได้รับทรัพยากรน้อยตามไป
ดังนั้นปัญหาที่ตามมาคือคุณครูที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูบรรจุใหม่ มีอายุงานไม่ถึง 15 ปีและมีเงินเดือนน้อยต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้วยตัวเองบางส่วน ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมันพานักเรียนไปแข่งขันวิชาการ ค่าอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน หรือค่าใช้จ่ายในการทำโครงการตามที่ผู้อำนวยการ (ผอ.) ร้องขอ
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาครูในโรงเรียนขนาดเล็กเงินเดือนน้อยและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนการสอนเองแล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำที่มากกว่านั้นคือเงินเดือนของ ข้าราชการครู พนักงานของรัฐ และครูอัตราจ้างในโรงเรียนแห่งเดียวกันก็ไม่เท่ากัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ครูอัตราจ้าง” ที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานของเงินเดือน โดยขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของงบประมาณ บ้างก็เป็นงบจากภาครัฐที่โรงเรียนทำเรื่องเสนอขอไปหรือจาก “ผ้าป่าเงินเดือนครู” จึงจัดสรรงบได้เพียงจำกัด
แต่ไม่ว่าจะเป็นครูสังกัดใด หรือเงินเดือนเท่าไหร่ ต่างก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการเรียนการสอนด้วยกำลังทรัพย์ส่วนตัวด้วยกันแทบทั้งสิ้น
มิหนำซ้ำครูจำนวนมากในประเทศไทยต้องทำงานอยู่ในระบบที่ “ไม่ได้บรรจุในภูมิลำเนาของตัวเอง” ดังนั้นเมื่อเริ่มทำงานในปีแรกจึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อความเป็นอยู่พื้นฐาน อย่างน้อยก็ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางส่วนบุคคล และค่าอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อนยามยากของครู?
จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ครูต้องเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อมาประคับประคองชีวิตให้รอดพ้นไปแต่ละเดือน หนึ่งในนั้นคือที่พึ่งยามยากของบรรดาเรือจ้างอย่าง “สหกรณ์อออมทรัพย์ครู” ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของครูไทยที่ประมาณ 60% ของยอดหนี้ครูทั้งประเทศ
และตามกฎหมายแล้วสหกรณ์อออมทรัพย์ครูจะสามารถตัดเงินเดือนครูแบบหน้าซองหรือหักเงินเดือนก่อนที่จะเข้าในบัญชีครูได้สูงสุด 70% ของเงินเดือนครูและเหลือไว้ให้ครูดำรงชีวิตที่ 30% ในแต่ละเดือน
นั้นหมายความว่าหากครูเงินเดือน 15,000 บาทแล้วมีหนี้สหกรณ์อยู่ เจ้าหนี้สามารถหักเงินแบบหน้าซองได้สูงสุด 10,500 บาทแล้วเหลือให้ครูใช้ทั้งเดือน 4,500 บาท
แต่ประเด็นสำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดว่า สหกรณ์อออมทรัพย์ครู เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ นอนแบงก์ ดังนั้นจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของธปท.รวมทั้งไม่ได้อยู่ในระบบเครดิตบูโร
เมื่อข้อมูลของมูลหนี้ทั้งหมดของครูจากสหกรอออมทรัพย์ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบเครดิตบูโร หมายความว่าครูหนึ่งคนหากไปขอสินเชื่อที่สถาบันการเงินอื่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของธปท.และอยู่ในระบบของเครดิตบูโร
สถานบันการเงินเหล่านั้นจะไม่สามารถประเมิน “สภาวะหนี้” ของครูท่านนั้นได้อย่างรอบด้านเพราะขาดข้อมูลจาก สหกรณ์อออมทรัพย์ครู (หรืออาจจะหนี้นอกระบบอื่นอย่างบัตรกดเงินสด) จนนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อให้ครูท่านนั้นโดยประเมินจากฐานเงินเดือนเต็มของครู ซึ่งก็เป็นการปล่อยสินเชื่อที่ง่ายมากเพราะอาชีพครูมีความมั่นคงสูง
ท้ายที่สุดจึงเกิดกรณีที่ว่า เมื่อเงินเดือนครูออกมา สหกรณ์อออมทรัพย์ครูจึงหักเงินเดือนหน้าซองไปสูงสุด 70% แต่หลังจากนั้นครูก็อาจต้องนำเงิน 30% ที่เหลือไปใช้หนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยให้สถานบันการเงินในระบบอื่นต่อไป (ซึ่งอาจจะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วยซ้ำ) ดังนั้นจึงเป็นที่มาของวงจรหนี้ที่ไม่จบไม่สิ้นจนต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อปิดหนี้ของอีกที่หนึ่งเป็นต้น
ด้านรายงานภาพรวมการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยในมิติต่างๆ ของคณะทำงานเลขานุการ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 2566 พบว่า ครูบางคนมีเงินเดือนหลือใช้ต่อเดือนหลังหักหนี้หลักร้อย ขณะที่บางคนติดลบหรือเหลือศูนย์บาท
ข้อเสนอแนะเเก้ปัญหาหนี้ครู
ด้าน ดร. ขจร ธนะแพสย์ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย เสนอแนะแก้ปัญหาวงจรอุบาทว์หนี้ครูไว้ 3 ประเด็นคือ
1. กำหนดเพดานการหักหนี้ครูต่อเดือนให้อยู่ที่ 70% จริงไม่ใช่ 70% ทิพย์
ปัจจุบันครูหนึ่งคนมีภาระต้องจ่ายหนี้มากกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 70% เพราะมีทั้งเจ้าหนี้ที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโรและไม่ได้อยู่ภายใต้เครดิตบูโร เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมควรนำหนี้ทั้งหมดของครูมาเป็นตัวคำนวณในการหักหนี้ ไม่ใช่เพียงเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ธปท.และเครดิตบูโร
2. กำหนดให้นายจ้างซึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินของครู
ไม่ว่าจะเป็นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่นก็ตาม แต่ในประเด็นนี้มีความซับซ้อนอยู่บ้างเพราะนายจ้างของครูซึ่งก็คือบุคลากรในกระทรวงศึกษารวมทั้งผอ.โรงเรียน
หลายคนเข้าไปนั่งในบอร์ดของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและรับเงินจากหน่วยงานดังกล่าวจึงทำให้เกิด “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interest และยากต่อการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เพราะเจ้าหนี้และนายจ้างครูบ่อยครั้งคือคนคนเดียวกัน
3. สถาบันการเงินทั้งหมดต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรมคือเฉลี่ย 4%
เพราะหนี้สินครูคือหนี้สินแบบ Payroll Credit หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก ดังนั้นสถาบันการเงินทุกแห่งจำเป็นต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สมเหตุสมผล
โดยพบว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยปัจจุบันของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูคงตัวอยู่ที่ประมาณ 5-6% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อครูของธนาคารพาณิชย์ลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อธนวัฏของธนาคารกรุงไทยมีดอกเบี้ยสูงที่สุดประมาณ 14%
4. หน่วยงานทางการเงินรวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องเปลี่ยนลำดับการตัดหนี้ครูใหม่
จากเดิมใช้วิธีตัดส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินต้นก่อน เช่นดอกเบี้ย เงินค่าหุ้นสหกรณ์ ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ
แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้ลดน้อยลง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องเปลี่ยนลำดับการตัดหนี้ใหม่เป็น 1) เงินต้น 2) ดอกเบี้ยตามสัญญา 3) เงินค่าหุ้นสหกรณ์ 4) ค่าธรรมเนียม และ5) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้