ปตท. เร่งลงทุน 3 หมื่นล้าน กระตุ้น GDP ในช่วงงบปี 67 ล่าช้า
"อรรถพล" CEO ปตท. เร่งใช้งบลงทุนปี 2567 ระดับ 3 หมื่นล้าน จากงบ 5 ปีกว่า 8.9 หมื่นล้าน ช่วยกระตุ้นจีดีพีประเทศ จับตา 5 เสี่ยงโลก กางกำไรปี 2566 แค่ 3.6% ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลต้องการให้รัฐวิสาหกิจไทยเร่งแผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กลุ่มปตท. มีได้เร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเป็นแผนที่กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ปตท. ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท. ได้ตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (2567-2571) วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท เป็นการลงทุนของปตท. และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น100% โดยเฉพาะปีนี้ตั้งเป้างบการลงทุนประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2567) ปตท.ได้มีการลงทุนไปแล้ว อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเหลือก่อสร้างเพียง 2-3 กิโลเมตร, โครงการ CFP โรงกลั่นของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย มั่นใจว่าตลอดปีนี้จะลงทุนตามเป้าหมายแน่นอน
"ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มปตท.ก็ดำเนินการตามเป้าหมายงบที่ลงทุนไว้ในแผนชัดเจนถือเป็นแผนลงทุนที่เป็นปกติ และเป็นโครงการใหญ่เยอะจึงเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน เพราะเงินที่จ่ายไปก็เป็นไปตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน" นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2567 พบว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน โดยปัจจัยที่น่าจับตามองของโลกมี 5 ด้าน ได้แก่
1. การฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ 2. นโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่เหนือการควบคุมหลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 3. การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) 4. อุปทานจากกลุ่มประเทศนอกโอเปก (นอนโอเปก) และ 5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
"คาดการณ์ราคาน้ำมันดูไบปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยดีมานด์ถูกกดดันจากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และในด้านซัพพลายจากกลุ่ม นอนออยล์ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ, บราซิล, อิหร่าน และเวเนซูเอลา เป็นต้น" นายอรรถพล กล่า
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท. จะลงทุนตลอด 5 ปี ตามแผนที่วางไว้ โดยแยกเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ดังนี้ 1. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34% 2. ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท คิดเป็น 17% 3. ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท คิดเป็น 14% 4. ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 4% และ 5. ลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31%
นอกจากนี้ ธุรกิจของปตท. ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ดำเนินธุรกิจโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภค สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือ ผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 3.6% ของยอดขาย อย่างไรก็ตามกำไรดังกล่าวยังสูงกว่าปี 2565 เป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ประกอบกับในปี 2566 กลุ่มปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566 นอกจากนี้ กำไรในปี 2566 ยังพบว่า กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีกำไรสัดส่วน 7% สัดส่วนนี้หากพิจารณาเฉพาะธุรกิจน้ำมันพบว่า มีกำไรแค่เพียง 1% เท่านั้น