ปัญหาหนี้จุกอก กลุ่มฐานรากยังไหวไหม?
ไม่รู้ว่าวิธีนี้นับเป็นการแก้ปัญหาที่ดีสุดหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นข้อเสนอและวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อมาช่วยลดภาระให้กับกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ได้ เพราะทุกวันนี้หลายคนแบกหนี้จนแทบจะดำรงชีพต่อไปไม่ไหวแล้ว!
ได้แต่ให้กำลังใจกับคนกลุ่มกลาง-ล่างที่วันนี้ยังไม่พ้นจากวงจรความยากลำบาก และดูเหมือนว่าหลายคนจะลำบากมากขึ้นกว่าในอดีตด้วย เพราะนอกจากรายได้ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว ยังมีภาระซ้ำเติมจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย
หมายความว่า คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ยังไม่เท่าเดิม จึงไม่แปลกที่บางคนจะดิ้นรนด้วยการกู้หนี้ยืมสิน หมุนเงินเพื่อดำรงชีวิตให้รอดในแต่ละวัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงผลศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย มีประเด็นที่เราควรให้ความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งผลศึกษาบ่งชี้ว่า ผู้มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกฟ้องร้องจนเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์และล้มละลายมากสุด เพราะคนกลุ่มนี้แบกหนี้สูง
โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 138.2% ของรายได้ ส่วนกลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาทต่อเดือน มีภาระรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็น 109.4% ของรายได้
ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐยังเสนอด้วยว่า รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังแนะนำให้กระทรวงการคลังทำงานร่วมกับแบงก์ชาติ (ธปท.) และดึงธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย
พร้อมเสนอว่า ให้ลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน เป็นการชั่วคราวอีก 5 ปี และนำเงินก้อนนี้ไปตั้งกองทุนแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำกำไรสะสมของตัวเองเข้าร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือของกองทุนแก้หนี้ครัวเรือน คือ แฮร์คัทหนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้รวดเร็วทันกาล แถมยังสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ตั้งตัวกลับมาเป็นลูกหนี้ดีได้ โดยกำหนดใช้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน สำหรับลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น
ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และต้องลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยจะกำหนดกับ ธปท. ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐยังได้เสนอแนวทางอื่นๆ ที่ต้องทำควบคู่กับการตั้งกองทุนแก้หนี้ครัวเรือนด้วยภายใต้มาตรการ 4 ข้อ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้เข้ากระเป๋าเงินของประชาชน
เราไม่รู้ว่าวิธีนี้นับเป็นการแก้ปัญหาที่ดีสุดหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นข้อเสนอและวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อมาช่วยลดภาระให้กับกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ได้ เพราะทุกวันนี้หลายคนแบกหนี้จนแทบจะดำรงชีพต่อไปไม่ไหวแล้ว!