ส.อ.ท. เร่งรัฐปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต ดันขีดความสามารถการแข่งขัน
"ส.อ.ท." เร่งรัฐบาล เร่งปรับโครงสร้างด้านต้นทุนการผลิต หวังรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 ในเดือนมีนาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินภาพรวมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุจัยเฉลี่ยทั้ง 9 ด้าน อยู่ใน “ระดับปานกลาง” ซึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อาทิ กฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาผลิตภาพแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม กฎระเบียบทางการค้าที่เป็นอุปสรรค การทุ่มตลาดสินค้า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งระบบภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ มีการปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะนำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์โลก การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาด มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill, Reskill, New skill) เป็นต้น
จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 250 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 จำนวน 3 คำถาม ดังนี้
1.ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับใด หัวข้อประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม/คะแนน
1) ความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการปฏิบัติตามกฎหมาย 3.05
2) ต้นทุนการผลิตและการประกอบการ เช่น วัตถุดิบ พลังงาน ค่าแรง การเงิน โลจิสติกส์ ฯลฯ 2.88
3) ผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) และกำลังคนรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม 2.96
4) ความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และส่งเสริม R&D 2.98
5) การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ ทั้ง FDI, TDI และ SMEs 3.07
6) การค้า การส่งออก และศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ 3.00
7) ความสามารถในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และNet Zero 2.95
8) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรม เช่น Logistic, Digital ฯลฯ 3.22
9) ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น GDP เงินเฟ้อ นโยบายรัฐ ฯลฯ 2.90 เฉลี่ยรวม 9 หัวข้อ 3.00
2.ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางการปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อ 82.8% ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
อันดับที่ 2 : ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาสินค้า 72.4% บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาด
อันดับที่ 3 : พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill, Reskill, New skill) 62.0%
อันดับที่ 4 : ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด พัฒนาแบรนด์สินค้า ขยายตลาดต่างประเทศ 57.2% และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ
อันดับที่ 5 : ปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานในองค์กร 56.0% เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ภาคอุตสาหกรรมคาดหวังให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องใดภายใน 1 ปี เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบ เช่น ราคาพลังงาน 78.8% ราคาวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ
อันดับที่ 2 : ปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business 67.2% และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อันดับที่ 3 : พัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน 62.4% ในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต
อันดับที่ 4 : ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้า 61.2% บริการ และกระบวนการผลิตรวมทั้งจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อันดับที่ 5 : ส่งเสริมการยกระดับผลิตภาพแรงงาน และพัฒนากำลังคน 58.0% รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม