ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่ เร่ง Ease of doing business รับลงทุน
ครม.คลอด พรบ.อำนวยความสะดวก Ease of doing business ฉบับใหม่ แทนปี 58 ปลดล็อกการขออนุญาตหลายกิจการ ให้ใช้หลักการอนุมัติโดยอัตโนมัต หากเกินระยะเวลาที่หน่วยงที่กำหนดไว้ในการขออนุมัติ อนุญาต
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (2 เมษายน 2567) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนและความไม่สะดวกต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต
โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บังคับใช้มากว่า 8 ปีแล้ว และถึงแม้จะมีผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัว ก.พ.ร. จึงได้ปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาในการบังคับกฎหมาย ขจัดผลไม่พึงประสงค์ ตลอดทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ
โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงจาก พ.ร.บ เดิม อาทิ
แก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ. เป็น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ... เพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ไปถึงการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน รวมทั้งเพิ่มบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ”
กำหนดให้มีการทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาตทุก 5 ปี โดย ก.พ.ร. หรือ คกก. พัฒนากฎหมายอาจเสนอให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขกฎหมายก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ รวมทั้งให้มีการทบทวนคู่มือสำหรับประชาชนทุก 2 ปี
กำหนดให้ผู้อนุญาตอาจจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) โดยหน่วยงานของรัฐอาจเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการใช้บริการช่องทางดังกล่าวก็ได้
การกำหนดเพิ่มหลักการอนุญาตโดยปริยาย (Auto Approve)
กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) โดย ครม. อาจกำหนดเรื่องที่หากประชาชนได้รับใบอนุญาตที่เป็นใบอนุญาตหลักของเรื่องนั้นแล้ว ถือว่าได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย และกำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ก.พ.ร. ได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว รวม 7 ฉบับ โดยออก พ.ร.ฎ. 4 ฉบับ และออกเป็นกฎกระทรวง 3 ฉบับ