"หนี้นอกระบบ" ผู้อยากกู้เงิน ต้องรู้ทัน ก่อนติดกับดักหนี้จนมองไม่เห็นทาง
"หนี้นอกระบบ" ดอกเบี้ยสูง ผู้อยากกู้เงิน ต้องรู้ให้ทัน ก่อนติดกับดักหนี้จนมองไม่เห็นทาง "หนี้โปะหนี้" ไม่ใช่ทางออก ยิ่งต้องจ่ายไม่รู้จักจบจักสิ้น นำไปสู่ทวงหนี้โหด เผยคำพูดจูงใจให้เริ่มกู้ ไม่อยากตกเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ เช็กเลย พร้อมเปิดแนวโน้มหนี้ครัวเรือน 2567
ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่เรียกได้ว่าไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักแสดง ประชาชนทั่วไป คนทำมาหากินโดนกันหมด แต่ที่แน่ๆ เมื่อเราประสบปัญหาในเรื่องนั้นๆ "เป็นหนี้" จะแก้ไขปัญหาอย่างไร? โดยที่เราดำเนินชีวิตของเราต่อไปได้โดยไม่เป็นการทำร้ายคนอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม
คำว่าเป็น "หนี้นอกระบบ" จึงผุดขึ้นในหัวทันทีหรือไม่ เพื่อเป็นตัวเชื่อมปัญหาเหล่านี้!
สถิติหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พร้อมคาดการณ์ หนี้ครัวเรือนทั้งปี 2567
สถิติหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566
จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยอดคงค้างหนี้ยังคงสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ
จากสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนไทยปี 2566 เติบโต 3.0% (นับเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่ต่ำที่สุดของข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ปรับปรุงนิยามใหม่ที่สามารถนับย้อนหลังได้ถึงปี 2555)
มาอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565
ครัวเรือนยังพึ่งพาเงินกู้มาบริหารจัดการสภาพคล่องประจำวัน ขณะที่การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ (บ้าน และรถยนต์) ชะลอลงมากในปี 2566 ตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว
แนวโน้มหนี้ครัวเรือน 2567
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มหนี้ครัวเรือน 2567 อาจเติบโตต่ำกว่าระดับ 3.0% ในปี 2567 เทียบกับที่เติบโต 3.0% ในปี 2566 โดยมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2567 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.7% ต่อจีดีพี (ภายใต้สมมติฐาน Nominal GDP ปี 2567 เติบโตในอัตราประมาณ 3.6%) ชะลอลงระดับ 91.3% ต่อจีดีพีในปี 2566
คาดว่า หนี้ครัวเรือนในปี 2567 จะยังคงเติบโตต่ำกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่น่าจะชะลอการก่อหนี้ก้อนใหม่ท่ามกลางความกังวลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน
โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งผู้กู้บางส่วนอาจเลื่อนการตัดสินใจเพื่อรอจังหวะการปรับทิศของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
"หนี้นอกระบบ" คืออะไร?
การให้คำนิยามกับคำว่า "หนี้นอกระบบ" คืออะไร เชื่อพฤติกรรมการทวงหนี้โหด แก๊งทวงหนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การมองความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามแต่ แท้จริงแล้ว หนี้นอกระบบ คือ การกู้ยืมเงินที่ไม่ผ่านระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินกู้ตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐใด ๆ
ดังนั้น แค่ขอยืมเงินจากเพื่อน คนรู้จัก ก็นับเป็นหนี้นอกระบบแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ยากที่จะเห็นข้อมูลหนี้นอกระบบ เช่น ผู้ให้กู้เป็นใคร มีจำนวนมากแค่ไหน และแหล่งของเงินที่ให้กู้มาจากที่ใด จะสืบจากที่ไหนได้
กลุ่มเป้าหมายของเจ้าหนี้นอกระบบเป็นใคร?
คีย์เวิร์ด คำพูดจูงใจให้กู้หนี้นอกระบบ โดยคนคิดโฆษณามักใช้คำเหล่านี้ให้ตรงใจกลุ่มลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย
- เงินด่วน
- ได้เงินไว
- ไม่ตรวจประวัติ
- ไม่ต้องยื่นเอกสาร
ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้ตอบโจทย์ผู้กู้กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล นำไปลงทุนประกอบอาชีพ ต้องการเงินไม่มากเพื่อนำไปหมุนช่วงสั้น ๆ จึงไม่อยากเสียเวลาเตรียมเอกสาร
กลุ่มที่มีข้อจำกัดในการกู้เงินจากผู้ให้บริการในระบบ เช่น ไม่มีงานประจำ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลประวัติทางการเงินอย่างกลุ่มฟรีแลนซ์และพ่อค้าแม่ค้า หรือเคยเป็นหนี้เสียมาก่อน
รวมถึงกลุ่มที่กู้ในระบบจนเต็มวงเงินแล้ว ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ หลายครั้งก็มีความจำเป็นจริง ๆ แต่อยากให้ลองมาดูความเสี่ยงที่มักเห็นกันสำหรับการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น หากต้องกลายเป็นลูกหนี้นอกระบบขึ้นมา
ดอกเบี้ยแอบแฝง กับพฤติการณ์หนี้นอกระบบ
โฆษณาชักชวนอาจบอกว่าดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ "รายวัน" ซึ่งคิดแล้วจะเท่ากับ 365% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบที่เพดานอยู่ไม่เกิน 28% ต่อปี
พฤติการณ์หนี้นอกระบบ กับการสัญญา
สัญญาที่ไม่ชัดเจนและอาจไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล การเจรจาต่อรองเพื่อประนีประนอมจึงเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงสูงที่จะถูกทวงหนี้โหด ข่มขู่ หรือถูกทำร้ายร่างกายตามมา
ทั้งนี้แม้ลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 แต่เราคงไม่อยากพบการทวงถามหนี้ที่รุนแรงตามสื่อสังคมเช่นนั้นอย่างแน่นอน
ติดกับดักหนี้จ่ายไม่รู้จักจบจักสิ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้นทุกวัน จนมองไม่เห็นทางออก
"หนี้โปะหนี้" จึงมา เมื่อดอกเบี้ยสูงและสัญญาไม่เป็นธรรม ลูกหนี้หลายรายที่จ่ายไม่ไหวจนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จึงใช้วิธีกู้หนี้ใหม่จากเจ้าหนี้อีกรายเพื่อเอาไปจ่ายหนี้เดิม วนไปแบบนี้จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว และติดอยู่ในวงจรของหนี้นอกระบบแบบหาทางออกไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดเลยก็ว่าได้
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย , ศูนย์วิจัยกสิกร