‘อีอีซี’ ประกาศความพร้อม ดึงลงทุนด้านการแพทย์
อีอีซี จับมือ องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐฯ (USTDA) และหอการค้าอเมริกัน (AMCHAM)
ขับเคลื่อนลงทุนด้านการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี พร้อมด้วย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน สัมมนา U.S. - Thailand Healthcare Workshop: Collaborate on Advancing Healthcare Innovation in Thailand จัดโดย องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐฯ (USTDA) ร่วมกับอีอีซี และหอการค้าอเมริกัน (AMCHAM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย ดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการวินิจฉัยและการรักษามาสู่การให้บริการอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศ และผลักดันให้ไทยกลายเป็นผู้นำด้านศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรของภูมิภาค
นายจุฬา กล่าวว่า ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐฯ มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสูงเป็นอันดับที่ 3 โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมในทุกอุตสาหกรรมสูงกว่า 44,000 ล้านบาท และมีบริษัทชั้นนำด้านการแพทย์และสุขภาพของสหรัฐที่ลงทุนในประเทศไทยและอีอีซี เช่น บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ออร์กานอน และ แบกซ์เตอร์ เป็นต้น โดยอีอีซี ได้เตรียมการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนแบบจำเพาะกับกิจการ ที่สามารถยื่นขอกับอีอีซีได้โดยตรง พร้อมกับการขอใบอนุญาตต่างๆที่จำเป็นสำหรับการประกอบกิจการผ่านสำนักงานอีอีซีแบบ One-stop service
ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าจะได้รับบริการการลงทุนที่มีความสะดวกและรวดเร็ว สำหรับทุกการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และการสัมมนาในวันนี้จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และมูลค่าสูงจากทั้งในและต่างประเทศ ถึงโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการขยายธุรกิจมาสู่พื้นที่ใหม่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และประเทศไทยมีความจริงจังและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี
ด้านนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึง ความสำคัญของสัมพันธไมตรีทางการฑูตระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยที่มีมายาวนานกว่า 190 ปี ซึ่งสหรัฐฯได้ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประเทศไทย ผ่านโครงการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นอกจากนั้น USTDA และ AMCHAM ยังได้สนับสนุนให้บริษัทชั้นนำด้านการแพทย์จากสหรัฐฯ สำหรับการขยายตลาดและการลงทุนมาสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศไทย
สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2567 และได้รับเกียรติจากวิทยากรจากองค์กรชั้นนำจากทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยและนานาชาติเพื่อร่วมกันเสวนาหาแนวทางในการดึงดูดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ที่เป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศในด้านการแพทย์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ของอาเซียน พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก