'พิมพ์ภัทรา' แจงปมเหมืองทองอัครา เดินหน้าเจรจายุติคดี 'อนุญาโตตุลาการ'
รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจ้งข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านปมเหมืองทองอัครา ยืนยันได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ชี้ไม่ได้ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่รัฐสภา น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ รมว.อุตสาหกรรมม ชี้แจงในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152
ตอบข้อสงสัยของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงจัดการเหมืองทองอัคราที่อนุญาโตตุลาการเลื่อนการชี้ขาดออกไปเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 โดยตั้งข้อสงสัยถึงการยกผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ทองคำให้แก่นายทุนต่างชาติ
น.ส.พิมพ์ภัทรา ชี้แจงว่า มุมที่ฝ่ายค้านอภิปรายอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ตนจะชี้แจง เหมืองทองอัคราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 ต่อมาปี 2557 ได้มีการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่จนเกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชน 2 กลุ่มกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการกล่าวอ้างว่าการทำเหมืองทองเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบตั้งกรรมการหลายคณะพร้อมสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขณะนั้นเข้าไปตรวจสอบข้อร้องเรียนของประชาชนที่กังวล
หลังจากนั้นใช้เวลากว่า 3 ปี จากปี 2557 ในการหาสาเหตุที่แท้จริงว่าข้อกล่าวหาของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดจากการประกอบกิจการของเหมืองทองอัคราหรือไม่
เวลาผ่านไป 3 ปีความจริงยังไม่ปรากฏ กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเจ้าภาพเสนอขอให้ใช้มาตรา 44 เพื่อระงับการทำเหมืองทองคำอัคราไว้ชั่วคราว ถือเป็นมาตรการเพื่อใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
น.ส.พิมพ์ภัทรา ชี้แจงว่า มีการศึกษาว่าการทำเหมืองทองเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การให้หยุดกิจการไม่ใช่เพียงแค่หยุดแต่ให้ไปปรับปรุงกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นใจและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ดถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น มีความเห็นไม่ตรงกับทางรัฐบาล เห็นว่าทางบริษัทฯได้รับผลกระทบจึงนำเรื่องยื่นอนุญาโตตุลาการ เหตุของเหมืองแร่ททองอัคราไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า สาเหตุผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดจากเหมืองทองอัคราหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ต่อมาประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายการทำเหมืองแร่ปี 2560 ออกนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนและจัดตั้งกองทุนต่างๆเพื่อเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งแวดล้อม
จากนั้นการทำเหมืองแร่ทองคำถึงจะดำเนินการต่อได้ ในส่วนของผงทองคำเป็นธรรมดาทรัพย์สินใดๆภายใต้การดูแลของบริษัทฯ ตั้งแต่วันสั่งให้หยุดกิจการก็ยังไม่สามารถเอาออกไปได้ จนกว่าจะเปิดกิจการต่อ ทั้งหมดได้มีการทำตามกฎหมาย
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่มีการกล่าวหาว่ามีการเอาผงทองไปแลกกับคดีที่เสนออนุญาโตตุลาการหรือไม่ ก็ถือเป็นสิทธิของเขาถ้ากระบวนการถูกต้องในปี 2563 และ 2564 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทลูกได้กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง
ทั้งนี้มีการขออนุญาตตามเรื่องที่เคยขอไว้ก่อนหน้านี้ ปี 2563 ราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน เขาเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนมีการขอมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องถึง 2548 มีคณะกรรมการแร่ มีหลายหน่วยงานร่วมกันพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่ พิจารณาภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ กระทั่งปี 2560 กลับมาเปิดอีกครั้งโดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนและมีกองทุนฯดูแล
น.ส.พิมพ์ภัทรา ยืนยันว่า การดำเนินการเหมืองแร่ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ส่วนที่สมาชิก กังวลของมาตรการส่งเสริมการลงทุน ในการประชุม ครม.มีมติเมื่อ 2 สิงหาคมปี 2565 เห็นชอบนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานของการทำเหมืองแร่ในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ การได้สิทธิ์บีโอไอไม่ใช่เฉพาะเหมือนทองอัครเท่านั้นที่ขอได้ แต่แร่อื่นก็ขอบีโอไอได้เพราะมีโครงการลงทุนในหลายประเภท
สำหรับ ประเด็นที่สงสัยว่าทำไม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานถึงมาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายการจัดการแร่แห่งชาติ
ขอชี้แจงไม่แปลกเป็นสายบังคับบัญชาตามสายงานเพราะนายพีระพันธุ์เป็นรองนายกฯดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม อย่าเอาเรื่องการเมืองมาปนกับการบริหารงานรัฐ ไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ที่สำคัญประธานฯ ไม่มีอำนาจอนุมัติในการสำรวจแร่ เพราะการอนุมัติและการอนุญาตผ่านขั้นตอน 7 กระทรวง 14 หน่วยงานในการพิจารณา ต้องแบ่งให้ถูกอย่าเอาข้อสงสัยมาผูกรวมแล้วกล่าวหาไม่เป็นธรรม
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า วันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ปัญหา 2 ด้านทำคู่ขนานกันไป เราทำเรื่องสู้คดีทำด้วยความรัดกุมรอบคอบทางอนุญาโตตุลาการบอกว่า ตกลงกันได้แล้วให้มาดำเนินการซึ่งมี 2 ทางคือ การต่อสู้คดี และการเจรจา
เราคำนึงด้วยว่าถ้าบริษัทกลับมาประกอบกิจการได้จะเกิดประโยชน์กับประเทศหลายส่วน และที่ถามว่าเหตุใดถึงเลื่อนคำชี้ขาดออกมาจะมีการแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ซึ่งก็ได้บอกแล้วอนุญาโตตุลาการได้แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เพื่อความสงบสุขทั้งสองฝ่าย จึงได้มีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเลื่อนคำชี้ขาดออกไป
“การเลื่อนคำชี้ขาดออกไปไม่สามารถทำได้ฝ่ายเดียวต้อง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกัน ขอยืนยันการเจรจาฝ่ายไทยเราไม่ได้เสียประโยชน์ ฝ่ายไทยยังได้ประโยชน์ในการกลับมาประกอบกิจการของเหมืองทองอัครา"
รวมทั้งวันนี้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการหมุนเวียน มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน มีการนำเหมืองทองคำกลับมาใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญประเทศได้เงินค่าภาคหลวง 10% จะส่งคืนประชาชนในพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2560 จ่ายค่าภาคหลวงให้ไทยสูงถึง 4,400 ล้านบาท
และเมื่อกลับมาประกอบกิจการอีกครั้งเริ่มต้นเมื่อแค่ มิถุนายน 2546 ถึงปัจจุบันได้เงินค่าภาคเหลืองแล้ว 358 ล้าน ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแล การกลับมาของเมืองทองอัคราไม่ได้กลับมาอย่างถูกกล่าวหา แต่กลับมาตามกฎหมายพ.ร.บ.แร่ 2560
สำหรับ เรื่องคดีความต่างๆที่กล่าวหาว่า มีการแลกเปลี่ยนกันจนเกิดประโยชน์กับบริษัทเหมืองทองอัคราหรือไม่ ขอชี้แจงว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีข้อจำกัด ทำงานตามขอบเขตของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่มีใครอยากจะทำดำเป็นขาว หรือไปแปดเปื้อนกับคดี และคดีไม่มีใครแทรกแซงได้
จึงไม่เป็นธรรมที่มากล่าวหาว่า มีการเอาคดีความต่างๆไปแลกกับการเปิดเหมืองทอง ส่วนการใช้ ม.44 ในขณะนั้นเพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งรุนแรง ได้มีการไปขอความเห็นจากหลายหน่วยงานก่อนใช้มาตรา 44 ไม่ได้ทำเพียงลำพัง
ทั้งนี้ เราทำเพื่อป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
รวมทั้งวันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง เข้าใจดีว่าเมืองทองอัคราเป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างประเทศอยู่ในความสนใจของประชาชน เรื่องที่อยู่ในอนุญาตโตตุลาการเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมีความจริงหลายอย่างที่พูดได้เพียงบางเรื่อง ข้อตกลงบังคับไว้จะส่งผลต่อการ พิจารณาข้อพิพาท
"วันนี้ดิฉันไม่ได้มาพูดในฐานะ รมว.อุตสาหกรรมแต่มาพูดในฐานะตัวแทนคนไทยคนหนึ่งที่ต้องปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหน้าที่ของรมว.อุตสาหกรรมจะทำอย่างไรให้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้รับการยอมรับจากโลก และอนุญาโตตุลาการ ดิฉันไม่ได้ลุกขึ้นมา เพื่อปกป้องพล.อ.ประยุทธ์ แต่ลุกขึ้นมาปกป้องคนทำงาน ปกป้องประชาชน ที่เป็นเจ้าของประเทศที่จะได้ประโยชน์จากการทำกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”รมว.อุตสาหกรรมชี้แจง