พาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่อยู่ที่ 0.0 % – 1.0% ค่ากลาง 0.5%
พาณิชย์ เผย เดือนมี.ค.เงินเฟ้อติดลบ 0.47 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากราคาอาหารสดลด มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ รวมไตรมาสแรกลดลง 0.79 % คาดเม.ย.ติดลบน้อยลง และพ.ค.กลับมาเป็นบวกได้ จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นและเงินบาทอ่อนค่า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมี.ค.2567 เท่ากับ 107.25 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.47 % เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งปรับลดลงตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมี.ค. 2566 อยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคายังคงปรับลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร 0.37 % ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.43 %
เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ลดลง 0.79 % และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลง 0.21 %
เงินเฟ้อเดือน มี.ค.2567 ที่ลดลง 0.47% มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.57 % ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ เนื้อสุกร ปลาทู ปลากะพง ผักสด เช่น มะนาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมี.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (พิซซา) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมสด องุ่น ส้มเขียวหวาน น้ำตาลทราย กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.40 % ตามค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล ที่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ เสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเสื้อผ้าเด็ก สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า ราคาปรับลดลง สินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี ยาแก้ปวดลดไข้ ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาคลินิกเอกชน ค่าทัศนาจรในประเทศและต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์
สินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้น 154 รายการ ได้แก่ นมสด, ผักกาดขาว, ผักคะน้า, มะนาว, ส้มเขียวหวาน, น้ำหวาน, ค่าเช่าบ้าน, น้ำมันเชื้อเพลิง, สุรา เป็นต้น
สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 170 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม, หนังสือพิมพ์, ค่าที่จอดรถ เป็นต้น
สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 106 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ไข่ไก่, กระเทียม, พริกสด, โฟมล้างหน้า, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
“แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2567 มีโอกาสที่จะอยู่ทั้งฝั่งบวกและลบ ที่ประมาณ 0.1% แต่เดือน พ.ค. และมิ.ย. จะกลับมาเป็นบวก ทำให้ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวเป็นบวกประมาณ 0.5-06% ประมาณ -0.1 % และจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค.จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น”
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เนื่องจาก ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพ.ค. 2566 เนื่องจากรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก และ 4. การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผัก รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และ การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่าง -0.3 – 1.7%ค่ากลาง 0.7% เป็นระหว่าง0.0 – 1.0% ค่ากลาง 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะมีการทบทวนต่อไป