'คลัง' ยันขาดดุลเพิ่ม 1.5 แสนล้าน ปรับแผนการคลังฯ ไม่กระทบเครดิตเรทติ้งไทย
"คลัง" มั่นใจรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 67-71 ขยายขาดดุล งบฯ 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้าน ไม่กระทบเครดิตเรตติ้งไทย ยัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" อัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การขยายกรอบขาดดุลงบประมาณปี 2568 เพิ่ม 1.5 แสนล้าน เชื่อมั่นว่าไม่ส่งผลกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Credit Rating) สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนสถาะเงินคงคลัง ณ ต้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าฐานะการคลังของประเทศมีความเข้มแข็งมาก และไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
"สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่จะขยับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 66% ต่อจีดีพี และจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จึงไม่เกินกรอบเพดานที่ 70% ต่อจีดีพี ถือว่าเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561"
สำหรับข้อห่วงกังวลที่ว่าการดำเนินมาตรการขาดดุลของรัฐจะทำให้ขยายช่องว่างจากจุดสมดุลมากขึ้นนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีมาตรการที่ทำให้งบประมาณกลับเข้าสู่จุดสมดุล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้นโยบายชัดเจนว่าจะลดรายจ่ายประจำ พร้อมกับมีมาตรการเพิ่มรายได้ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราเติบโตจากประมาณการจากเอกสารงบประมาณอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้
"ในอนาคตจะต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ รวมทั้งการลดรายจ่ายบางรายการ อาทิ รายจ่ายสมทบให้กับเงินสำรอง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปีละ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจ่ายเต็มแล้ว โดยมาตรการเหล่านี้จะต้องทำควบคู่กัน"
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันคงอยู่ที่ระดับ 7% นั้น ยังต้องพิจารณาเรื่องภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย ซึ่งการปฎิรูปโครงสร้างภาษีต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจะประเมินเรื่องการทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นของไทย จะพิจารณาใน 2 เรื่อง คือ จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และมีแผนการใช้คืนเงินที่กู้ขาดดุลของรัฐบาลมีความชัดเจนหรือไม่ ซึ่งถ้าเรามีคำตอบที่ดีของทั้ง 2 ส่วน ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทย
"เมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การกระตุ้นและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การกระตุ้นกำลังซื้อเป็นเรื่องจำเป็น ตอนนี้ทุกคนคงเลิกตั้งคำถามแล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไร"
นายลวรณ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงไม่ดูเพียงระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างเดียว การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาระยะสั้นก็เป็นเรื่องด่วน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เราประเมินในช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่ 3 เดือนผ่านไปสถานการณ์เปลี่ยน ภาพเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น
เมื่อถามถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคระกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย. นี้ นายลวรณ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับสังคม วันนี้เหตุผลที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องมีคำอธิบายให้ได้ ขณะที่คลังมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินจริงหรือไม่
ทั้งนี้หากประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแม้จะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันที แต่จะเป็นสัญญาณทีถูกต้องว่าสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และเป็นสัญญาณดีว่านโยบายการเงินและการคลังทำงานสอดประสานกัน