โจทย์ท้าทาย กนง. ‘ลด-ไม่ลด’ ดอกเบี้ยวันนี้

โจทย์ท้าทาย กนง. ‘ลด-ไม่ลด’ ดอกเบี้ยวันนี้

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากเห็นตรงกันว่า กนง. อาจตัดสินใจ “ลดดอกเบี้ย” หลังเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากมานานกว่าครึ่งปี แต่จะลดทันทีหรือลดในการประชุมครั้งหน้าก็ต้องติดตามกันต่อไป

บ่ายสองโมงวันนี้(10เม.ย.) น่าจะทราบผลแล้วว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตัดสินใจอย่างไรกับดอกเบี้ยนโยบาย... “ลด” หรือ “ไม่ลด” ซึ่งถ้าถามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มองตรงกันว่ายังไงก็ “ต้องลด” เพียงแต่จะลดในการประชุมรอบนี้เลย หรือจะรอรอบหน้า(12มิ.ย.) เป็นเรื่องที่ กนง. น่าจะหยิบมาพิจารณาในการประชุมวันนี้

สาเหตุที่ “ต้องลด” เพราะข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงภาวะที่เกือบจะ “ชะงักงัน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก และเป็นเช่นนี้มาเกินกว่าครึ่งปีแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อก็หดตัวลงต่อเนื่องถึง 6 เดือน ตัวเลขล่าสุดเดือนมี.ค.2567 เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.47% ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีของปี 2567 ใหม่เหลือเพียง 0-1% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.5% นั่นหมายความว่า เงินเฟ้อทั้งปีมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ 1-3% ค่อนข้างสูง

ส่วนสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มประเมินว่า ถ้าจะลดอาจยังไม่ใช่ครั้งนี้ แต่จะเป็นการประชุมในคราวหน้า เพราะเชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2567 แบบชัดๆ ก่อน เพราะตอนนี้แม้จะเชื่อว่าการเติบโตอาจต่ำกว่าคาด แต่ก็เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น และที่สำคัญ กนง. คงอยากรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) หั่นดอกเบี้ยลงมาก่อนสัก 1 รอบ ไม่เช่นนั้นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐจะยิ่งถ่างจากกันมากขึ้น อาจมีผลต่อเนื่องถึงค่าเงินบาทที่ยิ่งอ่อนค่าลงได้

ประเด็นที่อยากชวนคิดต่อ คือ ถ้าลดดอกเบี้ยตอนนี้ แล้วทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร แน่นอนว่าการอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน ซึ่งมีผลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้เช่นกัน ส่วนผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ในทางตรงกันข้ามเงินบาทที่อ่อนลงมีผลให้การส่งออกเมื่อแปลงกับมาเป็นเงินบาทจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยก็จะมีต้นทุนการท่องเที่ยวที่ลดลง เพราะสามารถแลกเงินบาทได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

แบงก์ชาติคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่าง “ข้อดี” กับ “ข้อเสีย” ของเงินบาทที่อาจจะอ่อนค่าลงจากการลดดอกเบี้ย แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเห็นตรงกัน คือ เศรษฐกิจไทยอ่อนแอเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และดูเหมือนว่าดอกเบี้ยในเวลานี้ดูไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มล่างยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากภาระหนี้ที่ล้นตัว เราจะเยียวยาคนกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง เพราะเขาน่าจะรอแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอยู่!