‘เอกชน’ จับตาผลประชุม กนง. หวังลดดอกเบี้ยอุ้ม SME

‘เอกชน’ จับตาผลประชุม กนง. หวังลดดอกเบี้ยอุ้ม SME

“เศรษฐา” ชี้ถึงเวลา กนง.ต้องลดดอกเบี้ย ระบุประชาชนเดือดร้อนนานแล้ว“หอการค้า” ชี้ ถ้าไม่ลดดอกเบี้ยต้องมีทางช่วยเอสเอ็มอี หลังต้นทุนการเงินพุ่ง ส.อ.ท.คาดยังไม่ลดดอกเบี้ย อาจจะรอเฟดประกาศลดก่อน หวั่นภาคเอกชนและประชาชน รับผลกระทบ ทั้งต้นทุนการเงินสูง ภาระดอกเบี้ย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 มี.ค.2567 เป็นที่จับตาของหลายฝ่ายว่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในแรงกดดันคงหนีไม่พ้นรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ให้สัมภาษณ์ถึงการขอร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นใจประชาชนที่ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาเป็นเวลานาน

นายเศรษฐา กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังคงมีจุดยืนเหมือนเดิม เพราะถึงเวลาแล้วที่ กนง.จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เนื่องจากประชาชนเดือดร้อนจากเรื่องนี้มาเยอะแล้ว

“เรื่องนี้จุดยืนผมยังเหมือนเดิม ถึงเวลาที่ กนง.ต้องลดดอกเบี้ยได้แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ติดตามการประชุม กนง.ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในปัจจุบันที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยในระดับ 8-10% สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมองผลของการประชุมครั้งนี้ 2 แนวทาง คือ

1.กรณีที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับเอสเอ็มอี เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน ดังนั้น ธปท.จะต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะเอสเอ็มอีบางส่วนยังมีผลกระทบจากโควิด-19

2.กรณีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะเป็นสัญญาณที่ดีถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในขาลง ซึ่งจะเห็นทิศทางต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้มีการปรับลดลงหลังจากที่มีข้อมูลทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชี้ให้เห็นว่าสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราดอกเบี้ยเดือน มี.ค.2567 ติดลบ 0.47% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

รวมทั้งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดภาวะที่ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่าย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการผลิตที่จะมีการผลิตและสต็อกสินค้าลดลง

คาด กนง.รอทิศทางเฟดก่อนตัดสินใจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่ามีแนวโน้มในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั่วโลกจะเป็นช่วงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่อยู่ที่ประเทศไหนจะประกาศลดก่อนกัน ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคยประกาศไว้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง 3 ครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก จึงคิดว่าเฟดยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาถึง 2.5% แล้วนั้น ส่งผลต่อเอสเอ็มอีทำให้เกิดภาระของต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น หากจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ก็จะเป็นการบรรเทาโดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนทางการเงินของกลุ่มเอสเอ็มอีลงได้ ซึ่งดอกเบี้ยในระบบและดอกเบี้ยนอกระบบมีความผูกพันกัน หากดอกเบี้ยในระบบลดลง ดอกเบี้ยนอกระบบก็จะลดลงเช่นกัน

“กนง.จะมีการพิจารณาเรื่องของดอกเบี้ยก็เป็นไปได้ 2 กรณี คือ การประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระให้เอสเอ็มอี หรือไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อรอให้เฟดประกาศลดดอกเบี้ยก่อน ซึ่งส่วนตัวคาดว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลง เพราะหากลดอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นอีก“ นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนมากขึ้น สินค้าก็อาจจะลดราคาลงได้ สิ่งเหล่านี้หากทำควบคู่กับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ เพราะขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวก็ได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว

ห่วงต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้น

นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงราคานำ้มันดีเซลที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นว่า ส่วนตัวมีความเป็นห่วงในราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และลามไปยังอิหร่านได้ขยายวงกว้างในภูมิภาคนี้ ซึ่งขณะนี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจจะเห็นราคานำ้มันดิบแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง และกระทบต่อภาคการขนส่งทางทะเล ทำให้ต้นทุนธุรกิจพุ่งขึ้น 

ทั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวรวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย ซึ่งเครื่องยนต์ของประเทศไทยคือ ภาคการส่งออก โดยปีนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า การส่งออกจะขยายตัว 2% เฉลี่ยเดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์ แต่ 2 เดือนที่ผ่านมา ยังทำไม่ได้ ทำได้เพียงเฉลี่ยแค่ 23,000 ล้านดอลาร์ ซึ่งสงครามทางการเมืองต่างประเทศยังขยายตัวรุนแรง น้ำมันตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน ดังนั้นต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ปัจจุบันราคาดีเซลปรับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอีก หากสงครามยืดเยื้อ เกิดการชะงักงันด้านการขนส่งโลกทางทะเล ก็มีโอกาสที่น้ำมันในตลาดโลกจะแตะ 100 ดอลลาร์มีความเป็นไปได้ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับราคาสินค้าขึ้นเพราะต้นทุนสูงขึ้น" นายเกรียงไกร กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าได้เพราะยังมีสต๊อกเก่าประมาณ 3-4 เดือน แต่หากราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นแบบรวดเร็วเฉียบพลันในช่วงต่อจากนี้ จนทำให้สงครามขยายตัวรุนแรง ราคาสินค้าก็จำเป็นต้องปรับขึ้นเช่นกันภายใน 1-2 เดือนนี้” นายเกรียงไกร กล่าว