‘คลัง’ สั่งแบงก์รัฐ อุ้มลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาฯ ปรับโครงสร้าง-ลดดอกเบี้ย
“คลัง” ออกมาตรการหนุนลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาฯ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย สอดคล้องความสามารถในการชำระหนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์และช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีการดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านเศรษฐกิจมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การตรึงหรือลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าวให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ รวมถึงลดโอกาสที่ลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อ SM จะกลายเป็นลูกหนี้ NPL ในอนาคต
2. จัดทำระบบแจ้งเตือนลูกหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเจรจาขอปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่กับธนาคารได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ให้ลดลงได้
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกหนี้ดีขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคอสังหาริมทรัพย์ และดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ