พ.ค.นี้ ปิดจ็อบ ‘แลนด์บริดจ์’ คมนาคมลุยโรดโชว์จีน
“คมนาคม” เตรียมปิดฉากโรดโชว์แลนด์บริดจ์ จ่อเดินทางไปจีนภายใน พ.ค.นี้ มั่นใจนักลงทุนสนใจเข้าร่วมประมูล ปักหมุดเริ่มขั้นตอนประกาศเชิญชวนนักลงทุนปีหน้า
KEY
POINTS
- “คมนาคม” เตรียมปิดฉากโรดโชว์แลนด์บริดจ์ จ่อเดินทางไปจีนภายใน พ.ค.นี้
- เผยผลโรดโชว์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูล
- ตั้งเป้าเริ่มขั้นตอนประกาศเชิญชวนนักลงทุน ภายในไตรมาส 4 ปี 2568
- กางแผนลงทุนวงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ เปิดบริการปี 2573
สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โครงการลงทุนระดับ 1 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลใช้ระยะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาในการเดินสายโรดโชว์ทำความเข้าใจและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ดูไบ หลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งล่าสุดมีกำหนดในเดือน พ.ค.นี้ จะเดินทางไปจีน เพื่อปิดฉากโปรโมทแลนด์บริดจ์ ก่อนกลับมาขับเคลื่อนขั้นตอนประกาศเชิญชวนลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ใช้โอกาสในการพบปะนักลงทุนเพื่อประชาสัมพันธ์และเชิญชวนการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งนักลงทุนทุกประเทศให้ความสนใจในโครงการนี้ โดยตามกรอบการดำเนินงาน กระทรวงฯ จะโรดโชว์แลนด์บริดจ์แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.2567 แต่อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ มีกำหนดการประชุมร่วมระหว่างไทย - จีน ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ จึงจะใช้เวทีนี้ในการเชิญชวนนักลงทุนจีนด้วย
“ตอนนี้กระทรวงฯ ไปโรดโชว์แลนด์บริดจ์มาหลายประเทศ นักลงทุนแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการลงทุนอย่างมาก ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้ ในโอกาสเดินทางไปจีนจะถือเป็นเวทีสุดท้ายของการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดทำเอกสารเชิญชวนการลงทุน”
สำหรับไทม์ไลน์ของการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงคมนาคมกำหนดภายหลังโรดโชว์แล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573
ขณะที่แผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น
โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท
โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท
โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ แบ่งระยะการลงทุน ออกเป็น
ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ซึ่งจะพัฒนาท่าเรือเพียงบางส่วน และพัฒนาโครงการรถไฟพร้อมกับมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร
ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท จะขยายขีดความสามารถท่าเรือ และมอเตอร์เวย์เป็น 6 ช่องจราจร
ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท ขยายขีดความสามารถท่าเรือ และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถท่าเรือ