'พาณิชย์' จับมือ 'แรงงาน' ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจ
“นภินทร” ผุดโปรเจคใหม่ “พาณิชย์ร่วมมือ ก.แรงงาน” ใช้กองทุนประกันสังคมค้ำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ใช้แฟรนไชส์สร้างอาชีพให้ ครอบครัวแรงงาน ม.33 ที่ขึ้นทะเบียนพร้อม kickoff “มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย” มิ.ย.นี้ คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 140 ล้านบาท
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตาม Roadmap การส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs ของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆที่ได้มอบหมายซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก เช่น การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความรู้ให้ SME การสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับธนาคารอิสลามฯ ธนาคาร SME D Bank ธนาคารออมสิน และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ในการช่วยเหลือคนว่างงาน แรงงานไทยและครอบครัว ทั้งนิติบุคคลและคนธรรมดาในการทำธุรกิจ อาทิ ธุรกิจแฟรนไชส์ โดยการปล่อยสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมและเท่ากันในทุกธนาคาร โดยเดินหน้าจัดทำโครงการปล่อยสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ในการสนับสนุนการทำธุรกิจและลดความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินของแรงงานไทยและครอบครัว
“ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้น สำหรับวงเงินที่จะนำมาค้ำประกันเงินกู้ในการส่งเสริมอาชีพ จะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อค้ำประกันเงิน และ 3 สถาบันการเงินจะเป็นผู้พิจารณาในการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีในดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อนำไปส่งเสริมอาชีพ โดยผู้ที่กู้จะอยู่ในกลุ่ม ม.33 ส่วนกลุ่มอื่นก็อาจจะเข้าไปใช้ในโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมด้านอาชีพต่อไป”นายนภินทร กล่าว
ในส่วนของความพร้อมจัดงาน มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย ที่กำหนดจัดช่วงปลายเดือนมิ.ย. 2567 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยการจัดกิจกรรมมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ และช่วยขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยกิจกรรมหลักภายในงานประกอบไปด้วย 7 โซน 1. โซนให้ความรู้ผ่านการสัมมนาหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 2. โซนแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการของ SMEs เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น 3.โซนเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจและหน่วยงานพันธมิตร
4. โซนพื้นที่การค้าราคาพิเศษ เช่น พื้นที่ในตลาดชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า 5. โซนการให้สินเชื่ออัตราพิเศษจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น 6. โซนแสดงเทคโนโลยีและบริการด้านดิจิทัล (Digital Business Solution) และ 7. โซนจัดแสดงนิทรรศการและพื้นที่สำหรับหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วม ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 10,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท