เช็กสถานะระบบ ‘NSW' ไทย หลังตั้งเป้าเชื่อมระบบนำเข้า-ส่งออก 100% ในปีนี้
รัฐบาลดัน NSW เชื่อมระบบนำเข้า - ส่งออก ไทยให้ได้ 100% ในปีนี้ หลังสถานะล่าสุดเชื่อมต่อได้มากกว่า 99% "สมศักดิ์" สั่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงกระบวนการให้บริการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งปรับปรุงการขนส่งทางน้ำให้มีประสิทธืภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็วนี้ๆ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.)ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณากำหนดนโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญและศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางให้เป็นโครงการข่ายหลักในการขนส่งสินค้า รวมถึงใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่โดยเฉพาะท่าเรือโดยการส่งเสริมให้เป็นท่าเรือถ่ายลำ (Transshipment Port) และการผลักดันการใช้งานระบบ National Single Window (NSW) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขนส่งในการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสินค้า และสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลงได้
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบสถานะการใช้งานระบบ NSW ที่ปัจจุบันมีธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW แล้วคิดเป็น 99.36% ของกระบวนงานทั้งหมดในการนำเข้าและส่งออก คาดว่าจะสามารถใช้งานกระบวนงานทั้งหมดได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
รวมถึงรับทราบสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP โดยในปี 2565 ที่13.7% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่13.9% และการยกเลิกการบังคับให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังต้องบรรทุกตู้สินค้าลงเรือที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เท่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ขนส่งเรือชายฝั่งที่สามารถรับตู้สินค้าได้ที่ท่าเทียบเรืออื่น ๆ ภายในท่าเรือแหลมฉบัง
นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้มีคณะทำงานปรับปรุงกระบวนการให้บริการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานในการเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟและท่าเทียบเรือชายฝั่งเข้าท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงพิจารณาในรายละเอียดของกระบวนการขนส่งในขั้นตอนต่างๆ เพื่อจัดทำ Transshipment Sandbox เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดรายการสินค้าข้าวและสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติม
พร้อมทั้งจัดทำมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น อาทิ การรั่วไหลของสินค้า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร) พิจารณาปรับปรุงขั้นตอนการขออนุญาตนำสินค้าผ่านราชอาณาจักรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขนส่งและส่งเสริมกิจกรรมการถ่ายลำทางเรือในประเทศไทยได้มากขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการ กบส. ประกอบด้วย การดำเนินงานรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟจีนและ สปป.ลาว การเปิดให้เอกชนดำเนินการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และการจัดหาผู้บริหารท่าเรือที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ ได้แก่ ท่าเรือศาลาลอย จ. พระนครศรีอยุธยา และท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม