'สกนช.' ชง 3 มาตรการหลังคลัง ไม่ต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล

'สกนช.' ชง 3 มาตรการหลังคลัง ไม่ต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล

"สกนช." เสนอ 3 มาตรการภายหลังกระทรวงการคลัง ไม่ต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล ทำรัฐเสียราได้แล้วกว่า 178,000 ล้าน ย้ำกองทุนน้ำมันฯ ติดลบทะลุแสนล้านบาทแล้ว อาจเห็นน้ำมันดีเซลทะลุ 31 บาทต่อลิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)วันที่19 เม.ย.นี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)จะเสนอให้ที่ประชุมกบน.พิจารณา 3 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล หลังจากที่กระทรวงการคลังไม่ยอมต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล1บาทต่อลิตร ที่สิ้นสุดมาตรการในวันที่19เม.ย.นี้ ประกอบด้วย

1. สกนช.จะยืนยันต่อที่ประชุมกบน.ว่าขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ไม่มีเงินเหลือที่จะมาช่วยเหลืออุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้กับประชาชนอีกต่อไปแล้ว จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นราคาทันที 1 บาทต่อลิตรเท่ากับการหายไปของการยกเลิกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 31.44 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 30.44 บาทต่อลิตร

2. กองทุนน้ำมัน ยังมีความต้องการช่วยเหลือประชาชนหลังจากมาตรการลดภาษีฯ ดังกล่าวที่หายไปโดยอาจเสนอให้ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร และให้ปรับขึ้นไปเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะช่วยเหลือกรณีดังกล่าวได้นานอีกกี่วัน เพราะขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันที่กู้มาก่อนหน้านี้ใกล้จะหมดลงแล้ว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันได้กู้เงินมาจากสถาบันการเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล จากกรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวม 150,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่กู้มาเพียง 100,000 ล้านบาท เนื่องจากประเมินว่าเงินจำนวนดังบกล่าวจะสามารถรับมือกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลได้ และขณะนี้ไม่สามรถขอกู้เพิ่มได้อีกจากที่มีวงเงินเหลือ 50,000 ล้านบาท เพราะกรอบการอนุมัติกู้เงินกำหนดว่าต้องกู้ให้แล้วเสร็จเต็มวงเงินภายในเดือนต.ค.2566

3. กองทุนน้ำมันฯ จะเสนอให้กบน.รับทราบว่า จะยังไม่ต้องมีการขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอีก1 บาทต่อลิตร แม้ว่ามาตรการการลดภาษีน้ำมันจะสิ้นสุดลง โดยจะเสนอให้กบน.นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับครม.ว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จากมาตรการใดๆ นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้ตรึงดีเซลราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท ด้วยการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตร รวม 9 ครั้ง เริ่มตั้งแต่  18 ก.พ. 65 รวมเป็นเงินแล้วกว่า 178,000 ล้านบาท และจะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.นี้ จากปัจจุบันจัดเก็บที่ลิตรละ 4.77 บาท โดยล่าสุดการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1 บาท ทำให้รัฐสูญรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 14 เมษายน 2567 ติดลบ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท