'ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์' สานต่อ '3 Steps Plus' พา GC โตยั่งยืน

'ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์' สานต่อ '3 Steps Plus' พา GC โตยั่งยืน

"ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์" ว่าที่ CEO GC ย้ำ สานต่อภารกิจ GC เดินหน้ากลยุทธ์ "3 Steps Plus" เน้น "ลดต้นทุน-หาตลาดใหม่-สร้างมูลค่า" ทำองค์กรให้แข็งแรงยั่งยืนตามแนวคิด "คงกระพัน อินทรแจ้ง" ที่จะไปนั่งบริหาร "ปตท." 13 พ.ค. 2567 นี้

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวในงาน "2024 GC Thank Press : รักแล้ว รักได้อีก" เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า ต่อจากนี้จะต้องฝาก นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (COI) ของ GC ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่ 

พร้อมกับแนะนำนายทศพร บุญยพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีขั้นต้นและขั้นกลาง (COB) จะมาดำรงตำแหน่ง President ภายหลังตนจะเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จะสานต่อธุรกิจของ GC อย่างสุดความสามารถ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ 3 Steps Plus ของนายคงกระพัน ที่บริหาร GC ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก 

สำหรับทิศทางและทบทวนกลยุทธ์ 3 Steps Plus แบ่งเป็น 

1. Step Change: สร้างรากฐานแข็งแกร่ง ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ ควบคุมค่าใช้จ่าย และพัฒนาความร่วมมือในมิติต่าง ๆ รวมถึงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจที่เน้นตลาด (Market-Focused Business) โดยการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products: HVP) มีเป้าหมาย 56% ในปี 2571 และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม

2. Step Out: แสวงหาโอกาสใหม่เพื่อสร้างการเติบโต และดูแลด้านต้นทุนของ allnex พร้อมขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเเละผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Bio & Circularity) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล รวมถึง Bio-Refinery โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆ ได้มากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคล อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ฯลฯ

3. Step Up: สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยดำเนินงานด้าน Decarbonization ให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 รวมถึงมุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ GC ยังวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และ Non-Core Business อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่เกี่ยวกับไฮโดรเจนและคาร์บอน โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่ GC มีในธุรกิจไฮโดรคาร์บอน สร้างความแตกต่างและผลตอบแทนทางธุรกิจในอนาคต มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ได้วางไว้ โดยที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาโรงงานปิโตรเคมีระหว่าง GC กับ บริษัท มิตซูบิชิ ฮีวี่ อินดัสทรี เอเชียแปซิฟิก จำกัด หรือ MHI-AP 

โดยมี 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันแก๊ส (Gas Turbine) และเทคโนโลยีการดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และศึกษาหาแนวทางการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในระบบดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตไฮโดรเจน หรือ Steam Methane Reforming (SMR)