ย้อนรอยร้าว รัฐบาล-แบงก์ชาติ เมื่อ ’ความเป็นอิสระ’ ถูกตั้งคำถาม จากการเมือง

ย้อนรอยร้าว รัฐบาล-แบงก์ชาติ เมื่อ ’ความเป็นอิสระ’ ถูกตั้งคำถาม จากการเมือง

เป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางนั้นมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน กล่าวคือรัฐบาลมุ่งเป้าหมายใน การสร้าง “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” ส่วนธนาคารกลางนั้นมุ่งไปที่ความมี “เสถียรภาพ” บ่อยครั้งเราจึงมักเห็นความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง “รัฐบาล” และ “แบงก์ชาติ”

ตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีโจทย์ในการบริหารเศรษฐกิจหลายอย่างที่รับมาจากพรรคเพื่อไทย เช่น การตั้งเป้าให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยตลอด 5 ปีขยายตัวไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี

รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายแจกเงินคนละ 1 หมื่นบาทให้กับประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5  แสนล้านบาท ซึ่งการที่รัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เม็ดเงินที่มากซึ่งเป็นความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และวินัยการเงินการคลัง รวมทั้งการขอให้แบงก์ชาติหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้เกิดภาพความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาล และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นระยะตลอดระยะเวลา 8 เดือนในการบริหารประเทศที่ผ่านมา          

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมเหตุการณ์ที่เป็นรอยร้าว และเป็นวิวาทะระหว่างรัฐบาล และแบงก์ชาติ 5 เหตุการณ์ดังนี้

 

1.ผู้ว่า ธปท.ทักท้วงหลายข้อโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต

จุดยืนของ ธปท.โดยเฉพาะ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะในประเด็นการแจกเงินถึง 50 ล้านคนนั้น เป็นจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด  โดย ธปท.มองว่ารัฐบาลควรแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางเท่านั้น โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 รายงานข่าวจากที่ประชุมระบุว่านายเศรษฐพุฒิ  ได้ทักท้วงรายละเอียดของโครงการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้อาจจะเข้าข่ายขัดต่อ พรบ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะการเติมเงินในระบบต้องมีที่มาชัดเจนไม่ใช่อยู่ๆ จะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับได้

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ตครั้งนี้ปรากฏว่าผู้ว่า ธปท.ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆแต่อย่างไร

2.เศรษฐาเปิดทำเนียบเคลียร์ใจผู้ว่าแบงก์ชาติ  หลังจากที่มีกระแสความไม่ลงรอยกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และ ธปท. นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีใช้วิธีการเคลียร์ใจกับผู้ว่า ธปท.โดยมีการนัดมาหารือกันที่ทำเนียบรัฐบาล

ย้อนรอยร้าว รัฐบาล-แบงก์ชาติ เมื่อ ’ความเป็นอิสระ’ ถูกตั้งคำถาม จากการเมือง

 

โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 นายกรัฐมนตรี นัดหารือกับผู้ว่าฯธปท.โดยบอกว่าเป็นการหารือในเรื่องภาพรวมของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต่างประเทศ เรื่องอัตราดอกเบี้ย และเรื่องอัตราเงินเฟ้อ

โดยตนได้บอกกับผู้ว่าการ ธปท.ว่าในสถานการณ์ตลาดปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งเรื่องของภาวะประชาชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรื่องดอกเบี้ยตนไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย ธปท.เข้าใจว่า ธปท.ต้องมีความเป็นอิสระ แค่อธิบายเหตุผลให้ฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ได้ไปสั่ง ส่วนผู้ว่าการ ธปท.ก็บอกว่ากำลังเร่งรัดเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายกฯบอกกับสื่อมวลชนด้วยว่าได้บอกว่าผู้ว่า ธปท.ว่าเรามากินกาแฟทุกอาทิตย์ก็ได้ หรือจะให้ตนเองไปที่แบงก์ชาติที่วังบางขุนพรหมก็ได้ เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกัน เพราะบางหน่วยงานต้องการข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาไม่มีภาพการจิบกาแฟ หารือ หรือถ่ายภาพคู่กันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่า ธปท.ให้ได้เห็นอีกเลย

ขอหลายครั้งให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

3.รัฐบาลขอ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้พูดผ่านสื่อหลายครั้งเกี่ยวกับกับการขอให้คณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการหนึ่งในการดูแลของ ธปท.และมีคณะกรรมการจากฝั่งของ ธปท.อยู่หลายคนพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการส่งสัญญาณของนายกรัฐมนตรีมักจะเกิดขึ้นก่อนการประชุม กนง.

เช่น ในการแถลงข่าวแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการ วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็กล่าวในตอนหนึ่งว่า “หลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน ซึ่งข้าราชการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ...แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ลดแต่หน่วยงานช่วยกันลดก็ขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้นนั้นนั้นก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน”

หรือว่าก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ติดๆกันเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.และขอให้มีการประชุม กนง.นัดพิเศษเพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ย

“รัฐบาลเรียกร้องให้ ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยแบบมีเหตุผล และอยากให้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน มากกว่าปัญหาที่ผู้ว่าฯ ธปท. นำมาอ้างอิง 3 ข้อ ว่า การลดดอกเบี้ยก็ช่วยไม่ได้ พร้อมเตรียมหาเวลาพูดคุยกับ ผู้ว่าฯ ธปท. เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังนโยบายการเงินและการคลังไม่สอดคล้องกัน”

โดยหลังจากการที่ประชุม กนง.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อ กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% นายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า

“ตนเองคิดว่าจุดยืนชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย เดี๋ยวจะหาว่าไปกดดัน ผู้ว่าฯธปท. อีก เพราะมีอิสระ แต่ก็ฝากไว้ว่า ความเป็นอิสระ มันไม่ได้อิสระจากความลำบากของประชาชน ขอให้นึกถึงความลำบากของประชาชนด้วย วันนี้ไม่ได้กดดันอะไรแล้ว แต่ผลที่ออกมา เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินเองว่าควรจะต้องลด หรือไม่ไม่ต้องลด”

ล่าสุดวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็กล่าวบนเวทีแถลงผลงานพรรคเพื่อไทยว่า “เราคุยกับผู้ว่าการ ธปท. ให้ลดดอกเบี้ย แม้ยึดความอิสระ แต่ไม่ใช่อิสระจากความเดือดร้อนของประชาชน ได้พูดหารือกันด้วยความสุภาพ หากท่านทำก็ดี ถ้าไม่ทำก็ต้องหาวิธีอื่น” ซึ่งหมายถึงการไปเจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเอสเอ็มอีและกลุ่มเปราะบาง

 

ธปท.ค้านหลายมาตรการรัฐบาล

4.การคัดค้านนโยบายรัฐบาลของ ธปท. ทั้งนี้ในการนำนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้งบประมาณต่างๆของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.จะมีการขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง ธปท.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต้องขอความเห็น ทั้งนี้มีหลายนโยบายที่ ธปท.ได้มีหนังสือทักท้วง เช่น โครงการจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1 พันบาท วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท ที่ ธปท.มองว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนา คุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคา ข้าวสูงขึ้นมาก และราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนั้นล่าสุดเมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ธปท.ได้ทำหนังสือทักท้วงและตั้งข้อสังเกตความยาวกว่า 5 หน้า รวมทั้งมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลใช้เงิน 5 แสนล้านไปในด้านอื่นๆเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่า ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

 

5.การเมืองตั้งคำถาม ความเป็นอิสระของ ธปท.

ล่าสุดประเด็นร้อนอยู่ที่การแสดงความเห็นของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล กล่าวในเวทีการแถลงผลงานของพรรค โดยระบุตอนหนึ่งว่าความเป็นอิสระของ ธปท.เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  

ย้อนรอยร้าว รัฐบาล-แบงก์ชาติ เมื่อ ’ความเป็นอิสระ’ ถูกตั้งคำถาม จากการเมือง

พร้อมทั้งกล่าวว่ากฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้นโยบายการคลังอย่างเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกปี จนทำให้เกิดกระแสการพูดถึงเรื่องนี้ในวงกว้าง 

ทั้งหมดคือการย้อนรอยให้เห็นถึงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาล ฝ่ายการเมือง และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคงไม่ได้สิ้นสุดลงเท่านี้

หากทั้งสองฝ่ายที่มีเป้าหมายในการบริหารแตกต่างกันยังไม่ได้นั่งลงทำความเข้าใจและปรับจูนการทำงานให้ตรงกัน แน่นอนว่าความเห็นต่างสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ