3 กองทุนรัฐ ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% สิทธิ 3 กลุ่มเฉพาะ
รวบรวม 3 กองทุนรัฐ ที่มีการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% ให้สิทธิกับคน 3 กลุ่มเฉพาะ ยอดสูงสุดกู้ได้ 1 ล้านบาท มุ่งเน้นเพื่อการประกอบอาชีพ
KEY
POINTS
- แนวทางหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และหนี้ครัวเรือน ด้วยการจัดแหล่งทุน เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำหรือดอกเบี้ย 0% เพื่อส่งเสริมเรื่องของการประกอบอาชีพให้มีรายได้
- 3 กองทุนรัฐที่มีการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเฉพาะ 3 กลุ่ม โดยปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 0% เพื่อให้นำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ
- กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ได้สูงสุด 3 แสนบาทยื่นได้ถึง 31 พ.ค.2567 กองทุนผู้สูงอายุ กู้ได้ทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม ส่วนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กู้ได้สูงสุด 1 ล้านบาท
แม้รัฐบาลจะมีการหารือและส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยมาหลาย แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังมีมติให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ก่อนที่สมาคมฯจะมีการแถลงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25%สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และSME เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว
อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และหนี้ครัวเรือน ด้วยการส่งเสริมเรื่องของการประกอบอาชีพให้มีรายได้ “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 3 กองทุนรัฐที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% ให้กับ 3 กลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นการให้กู้เพื่อส่งเสริมเรื่องของการประกอบอาชีพเป็นสำคัญ
ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ยื่นได้ถึง 31 พ.ค.นี้
กรมการจัดหางานขยายระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพิ่มอีก 1 เดือน จากวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
- ลดอัตราดอกเบี้ยกองทุนจากร้อยละ 3 ต่อปี เป็น 0% นาน 24 เดือน มีเงื่อนไขคือผู้รับงานไปทำที่บ้านที่กู้เงินไปแล้ว ต้องชำระหนี้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนดในงวดที่ 1- 12
- วงเงินกู้สำหรับบุคคล ต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี
- กรณีกลุ่มบุคคล ต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี (เฉพาะกู้วงเงิน 300,000 บาท ต้องมีสมาชิก 6 คนขึ้นไป)
คุณสมบัติผู้มีสิทธิกู้กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน
1.ต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน
2. มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน หรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน
3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
4.ไม่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีหรืออยู่ในระหว่างดำเนินคดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกองทุน
ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นกู้ได้ที่
- สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10
- สำนักงานจัดหางานจังหวัดในท้องที่ ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน หกองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน โทร. 02 245 1317
- สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
เงินกู้กองทุนผู้สูงอายู ได้ทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม
ผู้สูงอายุสามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ยื่นกู้ปลอดดอกเบี้ย จากกองทุนผู้สูงอายุ อัตราเหมาจ่าย รายบุคคลได้วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน รายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน ได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท แต่จะต้องมีผู้ค้ำประกัน และชำระคืนทุกเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปี
คุณสมบัติผู้สูงอายุ
- กรณีรายบุคคล
1. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2. ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเงินทุนประกอบอาชีพ
3. มีความสามารถในการประกอบอาชีพ
4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5. มีปัจจัยในการประกอบอาชีพ
6. มีสถานที่ในการประกอบอาชีพในจังหวัดเดียวกันกับที่ได้ยื่นคำร้องขอกู้ยืมไว้
7. ไม่เป็นผู้กู้ หรือผู้ค้ำของกองทุนผู้สูงอายุ
8. คู่สมรส หรือบุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ต้องไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ
- กรณีรายกลุ่ม
1. เป็นผู้สูงอายุที่มีวัตุประสงค์เพื่อการประกอบอาชีพร่วมกัน กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน
2. มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ
3. มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องขอรับการสนับสนุน
4. มีสภาพร่างกายแข็งแรงสามารถประกอบอาชีพได้
5. สมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 8,000 บาท ต่อคนต่อเดือน
6. สมาชิกในกลุ่มต้องไม่เป็นผู้ค้าชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ
ในการยื่นกู้หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนกลาง กลุ่มกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ โทรศัพท์ : 0 2354 6100
ส่วนภูมิภาค สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
กลุ่มผู้พิการกู้เงินได้สูงสุด 1 ล้านบาท
กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นกองทุนหมุนเวียน โดมีที่มาของเงิน ประกอบด้วย เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินสมทบจากสถานประกอบการ เงินบริจาค ดอกเบี้ยจากเงินกองทุนโดยเปิดให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ
- รูปแบบการให้บริการ กู้ยืมเงินเป็นการบริการคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ รายบุคคลรายละไม่เกิน 60,000 บาท
- รายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
- ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะกู้ยืมเงินเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยไม่เกิน 120,000 บาท
คุณสมบัติของผู้กู้ยืมรายบุคคล
กรณีคนพิการเป็นผู้กู้ยืม
- มีบัตรประจําตัวคนพิการ
- มีความจําเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคําขอ
- มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
- บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
- มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
- ไม่มีประวัติเสียหายในการกูเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเป็นกรณีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
- กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชําระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชําระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด
- มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืม โดยมีบุคคลค้ำประกันการกู้ยืม เป็นบุคคลธรรมดาที่น่าเชื่อถือได้ ,องค์กรตามประเภทความพิการหรือองค์กรของคนพิการที่เป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์ เพื่อการค้ำประกันให้กับสมาชิกเป็นผู้ค้ำประกัน
กรณีผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้กู้ยืม
- มีความจําเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคําขอ
- มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
- บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
- มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
- ไม่มีประวัติเสียหายในการกูเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเป็นกรณีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
- กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชําระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชําระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด
- มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืม โดยมีบุคคลค้ำประกันการกู้ยืม เป็นบุคคลธรรมดาที่น่าเชื่อถือได้ ,องค์กรตามประเภทความพิการหรือองค์กรของคนพิการที่เป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์ เพื่อการค้ำประกันให้กับสมาชิกเป็นผู้ค้ำประกัน
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สิน จากกองทุน
คุณสมบัติของผู้กู้ยืมผู้พิการรายกลุ่ม
- เป็นกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกันนหรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน ต้องมีสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่าสองคน ซึ่งสมาชิกสามารถเป็นผู้ค้ำประกันให้กันและกันได้
- มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือน
- สมาชิกในกลุ่มต้องผ่านการฝึกอบรมอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือองค์กรที่จัดฝึกอบรม และต้องเป็นอาชีพเดียวกันหรือแบบเดียวกันกับอาชีพที่กู้ยืมเงินไปลงทุน
- ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงาน ภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีการรวมกลุ่มกันจริง
- มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน
- กลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันต้องมีคำว่า “กลุ่ม” ประกอบชื่อ
- กลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันต้องมีสถานที่ทำการที่แน่นอน
สถานที่ยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงิน
จะต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเองที่จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือจังหวัดที่ตนเองประกอบอาชีพอยู่
กรุงเทพฯ: กองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ (ตึกนิวยอร์ก) ชั้น 2 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน แขวงสามเสนใน กรุงเทพมหานคร หรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต 1-50
ส่วนภูมิภาค: สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือที่ประกอบอาชีพอยู่
อ้างอิง : กรมการจัดหางาน ,กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ,กองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม.