“วัคซีนโควิด” วันนั้นถึงวันนี้ เกิดความกังวลใหม่

“วัคซีนโควิด” วันนั้นถึงวันนี้ เกิดความกังวลใหม่

"วัคซีนโควิด" ความกังวลช่วงโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก "กลัวไม่ได้ฉีด" แตกต่างกับข้อกังวลใหม่ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่การระบาดของโควิด19 ซาลงจากการระบาดใหญ่ อย่างปัจจุบัน  

KEY

POINTS

  • ยุคโควิด19 ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก วัคซีนโควิด เป็นความหวังของทุกคนทุกประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับความกังวลที่จะไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องขึ้นทะเบียนวัคซีนภายใต้เงื่อนไขใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ซึ่งบริษัทผู้ผลิตไม่ต้องรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น 
  • วัคซีนโควิด ข้อกังวลใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด19 ไม่ได้ระบาดใหญ่ทั่วโลก มีการพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น
  • กรมควบคุมโรค สอบถาม “คนไทยยังต้องการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่” ขณะที่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติอัปเดตล่าสุด วัคซีนโควิดสัญชาติไทย

กังวล ไม่มีวัคซีนโควิดให้ฉีด

ย้อนไปในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด19 ระบาดใหญ่ เรียกได้ว่า ทั่วโลกอยู่ในภาวะชะงักงันทุกอย่าง เกิดผลกระทบวงกว้างไม่เพียงแต่มิติของสุขภาพเท่านั้น  รวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นๆ

นั่นเพราะ เวลานั้น โควิด19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคทั้งการป้องกัน อาการป่วย ความรุนแรงของโรค และไม่มีวัคซีนในการป้องกัน  ก่อนที่ต่อมาจะเริ่มมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นโดยเฉพาะการป้องกันการติดต่อ

วัคซีนโควิด จึงเป็นความหวังของทั่วโลกในการที่จะหยุดการระบาดของโรคโควิด19 ทำให้หลาบริษัทเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน ก่อนที่จะทยอยเผยแพร่ผลศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดของแต่ละบริษัท
หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย  เริ่มที่จะมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด แต่เป็นการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) โดยหน่วยงานควบคุมกำกับของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากผลการทดสอบวัคซีนในมนุษย์(อาจมีผลศึกษาในเฟส3แล้วหรือไม่ก็ได้) ให้สามารถใช้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆได้

นพ.ณรงค์  อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด19 ที่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรค แต่เพื่อให้ประชาชนมีวัคซีนใช้โดยเร็วและทันการณ์

อย. จึงกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนยาแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน(EUA)ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยกำหนดแนวทางให้บริษัทที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนแสดงข้อมูลที่เพียงพอในการสนับสนุนถึงคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน รวมทั้งต้องติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

“แม้จะใช้เวลาในการประเมินที่สั้นลง อย. ก็ยังคงให้ความสำคัญกับหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผลของวัคซีน”นพ.ณรงค์กล่าว 

ความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนโควิดของผู้คนในเวลานั้น คือ “ไม่มีวัคซีน ไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่ได้ฉีดวัคซีนตัวที่ต้องการ” แม้อาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของวัคซีนโควิดที่จัดเป็นวัคซีนชนิดใหม่อยู่บ้าง แต่ความกลัวโรคโควิดย่อมมีมากกว่า จนเกิดการด้อยค่าวัคซีนชนิดเชื้อตายที่รัฐจัดหาและเรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีนชนิดmRNA ที่ต้องการ 

สู่ยุคกลัวผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด

เวลาผ่านเลยไป องค์ความรู้เกี่ยวกับอาการป่วย ความรุนแรงของโรค และแนวทางการรักษาที่มากขึ้น บวกกับประชาชนในประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิดจำนวนมาก สถานการณ์ระบาดจึงค่อยๆบรรเทาลงเรื่อยๆ  และประเทศไทยประกาศยกเลิกโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย 
ปัจจุบันจำนวนคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด ที่ประเทศไทยมีการให้บริการเหลือเฉพาะวัคซีนโควิด ชนิด mRNA เป็น วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอน่า และไม่ได้มีการจัดหาซื้อมาเพิ่ม แต่ก็แทบไม่มีคนเข้ารับการฉีด

เกิดเป็นความกังวลใหม่ขึ้น เปลี่ยนจาก “กลัวไม่ได้ฉีด” เป็น “ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย” 

โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีการระบุไว้ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน อย่างเช่น  ความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ของวัคซีนโควิดไฟเซอร์ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ฟ้องร้องวัคซีนไฟเซอร์

กอรปกับ ในต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งอเมริกาและยุโรป เริ่มปรากฎการฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการใช้อย่างมากในพื้นที่นั้น อย่างเช่น  กรณีศาลประจำภูมิภาคฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เริ่มพิจารณาคดีฟ้องร้องบริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ร่วมกับ Pfizer บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ผู้ผลิตวัคซีนmRNA ตัวแรกในชื่อ Comirnaty

จากคดีฟ้องร้องโดยผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกล่าวหาว่าวัคซีนป้องกันโควิดทำให้เธอได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
รวมถึง กรณี เคน แฟ็กซ์ตัน อัยการรัฐเทกซัส ฟ้องร้องดำเนินคดีโดยคำกล่าวหาที่มีต่อการวิจัยแบบ Gain of Function (GOF) โดยไฟเซอร์
อีกทั้ง ที่มีนักวิชาการของไทยออกมาระบุกรณีการพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาว (White clot) ในหลอดเลือดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19

กรณีนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สิ่งแปลกปลอมที่อ้างถึง ไม่ใช่ความผิดปกติของเลือดที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA แต่อย่างใด เป็นเพียงการตกตะกอนของโปรตีนส่วนประกอบของเลือดที่เกิดขึ้นภายหลังการตาย (ลิ่มเลือดภายหลังการ ตาย, postmortem blood clot) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่พบได้เป็นปกติในผู้เสียชีวิต และพบมาตั้งแต่ก่อนมีการระบาดหรือมีการใช้วัคซีนโควิด 19

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ล่าสุดที่มีการเผยแพร่ข่าว อ้างถึงคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนโควิด ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ บริษัทแอสตร้าฯ ได้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างเหล่านั้น แต่ก็ยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่า วัคซีนสามารถทำให้เกิด TTS หรือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ได้ในบางกรณี

นอกจากนั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีวัคซีนแอสตร้าฯ หรือวัคซีนใดๆ สาเหตุในแต่ละกรณีจะเป็นเรื่องของหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ
กรณีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนโควิด 19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลก พบว่า ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก  

“วัคซีนโควิด” วันนั้นถึงวันนี้ เกิดความกังวลใหม่

จากข้อมูลของสหราชอาณาจักร (ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564) และสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงในการเกิด TTS ของประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อ 100,000 ประชากร ในขณะที่ ฐานข้อมูลความปลอดภัยระดับโลกของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า อัตราการรายงาน TTS ต่อประชากร 1,000,000 ราย อยู่ระหว่าง 0.2 (ในประเทศแถบเอเชียและบราซิล) ถึง 17.6 (ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก)

สำหรับประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48,730,984 โดส พบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจำนวน  7 ราย อัตราการเกิดภาวะ TTS เท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร   หรือ จะพบผู้มีภาวะดังกล่าวได้ 1 ราย ในผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 10,000,000 คน

และภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 3-21 วันแรก หลังจากที่ได้รับวัคซีน

ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ทั้งหมด 48 ล้านโดส โดย 1 คน ฉีด 2 โดส ดังนั้นมีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน มีรายงานผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการรับวัคซีนแอสตร้าฯ 23 ราย แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลักการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 พิจารณาแล้ว พบว่ามีผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันที่เข้าข่ายอาจเกิดจากวัคซีน 7 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย

อัปเดตวัคซีนโควิด สัญชาติไทย 

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโควิดสัญชาติไทยว่า  ไม่ได้ทำต่อในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นื่องจากขณะนั้นไม่ทำการศึกษาวิจัยคงไม่ได้  แต่ด้วยสายพันธุ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอด  อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ที่ได้ในการพัฒนา ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

องค์การเภสัชกรรม ที่วิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด ก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Approval) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์เช่นกัน  

“องค์ความรู้และศักยภาพที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด สามารถนำมาใช้ในภายภาคหน้า หากมีโรคระบาดอีก หลายประเทศก็เช่นกัน เป็นต้นทุนในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ” นพ.นคร กล่าว

การฉีดวัคซีนโควิด ในระยะต่อไป

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดของประเทศไทย ในสถานการณ์ของโรคโควิด19 ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตรายและวัคซีนไม่ได้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว  การใช้วัคซีนจะต้องอยู่ในรูปแบบของวัคซีนในภาวะปกติ ต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านกระบวนการ ศึกษา ผลดีผลเสีย ผลกระทบต่างๆ และนำมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับอย. ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติในประเทศไทย คือ วัคซีนไฟเซอร์ที่เป็นวัคซีนชนิด mRNA

“วัคซีนโควิด” วันนั้นถึงวันนี้ เกิดความกังวลใหม่

สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนก็ไม่ได้เป็นแบบฟรีให้กับทุกคน  หากจะให้กับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นเฉกเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น จะต้องกำหนดให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 

ทั้งนี้ การผลักดันวัคซีนเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน ก่อนเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ ที่มี รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี  โชติพิทยสุนนท์ เป็นประธาน เพื่อจะบรรจุเข้าสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงจะสามารถดำเนินการเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์

อย่างไรก็ตาม  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอความร่วมมือประชาชนในการตอบแบบสอบถาม “ความคิดเห็นการรับวัคซีนโควิด19 ในปี2567” ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2567  ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จะนำไปประกอบการพิจารณานโยบายการบริหารจัดการวัคซีนโควิด19 ในระยะถัดไป