เศรษฐกิจไทยถอยหลัง ยุทธศาสตร์ดิจิทัล ‘ตกขบวน’

เศรษฐกิจไทยถอยหลัง ยุทธศาสตร์ดิจิทัล ‘ตกขบวน’

ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทย “หดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน” การส่งออกไทยก็หดตัวถึง 10.9% ยังไม่นับเรื่อง “ยุทธศาสตร์ดิจิทัล” ไทยก็พ่ายแพ้ต่อเพื่อนบ้าน เราพยายามเป็น “ฮับดิจิทัล” ของภูมิภาค แต่ทำไม่ได้ ด้าน “ไมโครซอฟท์” ก็ไม่ประกาศเม็ดเงินลงทุนที่ไทยชัดเจน

เป็นที่น่าตกใจเมื่อพบว่า ตัวเลขจาก ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีตัวเลข “หดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ.รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18

ส่วนการส่งออกไทย มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัวถึง 10.9% การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 0.2% มูลค่าส่งออก 70,995 ล้านดอลลาร์ 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุจากปัจจัยท้าทายทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ทั้งต้องยอมรับว่าไทย “ปรับตัวไม่ทัน” แผนรับมือไม่เจ๋งพอ ทั้งเรื่องปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยืดเยื้อรุนแรง โดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนและตลาดหลักในภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ากับไทย กระทบโดยตรงต่อสินค้าไทย ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวหลายตลาด โดยเฉพาะอาเซียน ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ รวมถึง สงครามในเมียนมา การค้าชายแดนก็หดตัวลง 

ยังไม่นับเรื่อง “ยุทธศาสตร์ดิจิทัล” ที่ประเทศไทย ก็พ่ายแพ้ต่อประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาไทยพยายามผลักดันตัวเองให้เป็น “ฮับดิจิทัล” ของภูมิภาค แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะยุทธศาสตร์ดิจิทัลเราไม่แข็งแรง และไม่ดึงดูด

การประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของ “ไมโครซอฟท์” โดยซีอีโอ สัตยา นาเดลลา ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ประเทศไทยน่าลงทุนเสียเหลือเกิน เพราะถ้าน่าลงทุนจริง ต้องประกาศลงทุนที่มากกว่าแค่การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ นั่นทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวใน 3 ประเทศที่ ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ไม่ประกาศเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจน เหมือนใน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำเราเสียหน้าไปไม่น้อย 

ประเทศไทยยังเป็นรองหลายเรื่อง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่อง "ทักษะ และ "คน" ที่อุดมไปด้วยผู้สูงวัย เด็กเกิดน้อยลง คนหนุ่มสาววัยทำงานมีสัดส่วนน้อย กฎระเบียบภาครัฐ การสนับสนุนการส่งเสริมของไทย ก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "ทำไม่ถึง" และ "ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่" ปล่อยให้ทุนต่างชาติเข้ามายึดครอง ไม่เหลือที่ยืนให้ผู้ประกอบการไทยเลย ปล่อยให้สินค้าจีนทะลักเข้ามายึดหัวหาดในไทยแบบเบ็ดเสร็จ เราขาดดุลเรื่องนี้อย่างมโหฬาร

เทียบกับ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่เวียดนาม ที่มีสิ่งตรงกันข้ามกับไทยมี เขามีคนวัยทำงานหนุ่มสาวจำนวนมาก ทักษะด้านภาษาก็นำหน้าไทย ยุทธศาสตร์ดิจิทัลก็วางไว้แน่นในระยะยาว กฎระเบียบทันสมัย แม้ประเทศไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน แต่กลับเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีแนวโน้มและการเติบโตที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่าประเทศไทย ต้องถามว่า รัฐบาลเศรษฐา 2 มียุทธศาสตร์แก้เกมเรื่องเหล่านี้อย่างไร