ถ้ารัฐบาลเห็นว่าพร้อมในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ทำไปเลย
รัฐบาลเศรษฐา 1 ก็ถูกปรับไปแล้วอย่างกระท่อนกระแท่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนนี้ โดยพรรคเพื่อไทยเจ้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นแกนนำเหมือนเดิม รัฐบาลเศรษฐา 2 ก็ต้องผลักดันโครงการนี้ต่อไปดังเดิม
ผมได้ฟังท่านสมชัย ศรีสุทธิยากร (ขออนุญาตเอ่ยนาม) อดีตกรรมการในคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้สัมภาษณ์ทีวีช่องหนึ่งเมื่อเช้าวันอังคารที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ในเรื่องความเป็นไปได้ที่รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการเงินดิจิทัลที่เป็นนโยบายหลักของพรรคนำของรัฐบาล
ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า “ถ้ารัฐบาลเห็นว่าพร้อมก็ทำไปเลย” ซึ่งท่านได้พูดซ้ำแบบนี้ 2-3 ครั้ง ด้วยน้ำเสียงฟังดูแปลกๆ
ทำให้ผมซึ่งในอดีตได้กำกับดูแล ธ.ก.ส. ตาม พ.ร.บ. ของ ธ.ก.ส. ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารนี้นานถึงร่วมปีในช่วงปี 2557 หลังจากที่รัฐบาลสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ ได้เอาเงินที่ให้ ธ.ก.ส. ไปกู้มาร่วม 400,000 ล้านบาทไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
ก็อดที่จะไปหา พ.ร.บ.ธ.ก.ส. และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาดูด้วยตัวเองอีกครั้งไม่ได้ เพราะสงสัยอยู่เหมือนกันว่ารัฐบาลจะไปเอาเงินของ ธ.ก.ส. มาใช้แจกประชาชนเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้อย่างไร ลองมาดูข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ลึกหน่อยครับ
ประการที่ 1 การใช้ ธ.ก.ส. เป็นช่องทางหาเงินก้อนโตมาทำนโยบายประชานิยม
เท่าที่ได้สดับตรับฟังเรื่องนี้มาร่วมเดือน ทั้งสื่อและนักวิชาการจำนวนมากต่างก็มีความสงสัยเหมือนผม ดูๆ แล้วที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ที่สงสัยไม่ใช่ผู้ที่ไม่ชอบรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย แต่ผู้ที่สงสัยนี้เป็นผู้ที่รู้ดีว่า
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่ดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2554 – 2556 นั้น ได้สร้างความเสียหายด้านการเงินให้แก่ประเทศรวมทั้ง ธ.ก.ส. มากถึง 556,507 ล้านบาท หรือประมาณ 25 % ของงบประมาณของประเทศในปีที่ทำโครงการ
และในสมัยนั้น ธ.ก.ส. ก็ช้ำมากที่ถูกสั่งให้ไปรับหน้าเสื่อไปกู้เงิน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันถึงประมาณ 410,000 ล้านบาท และต้องเอาเงินทุนที่มีไม่มากของ ธ.ก.ส. เองมาช่วยในกรอบวงเงินถึง 90,000 ล้านบาท
จากงบการเงินของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปรากฎว่า เงินที่ได้ใช้จริงตั้งแต่เริ่มโครงการจำนำข้าวเปลือกจนจบมีจำนวน 960,665 ล้านบาท หักด้วยรายรับจากการระบายผลิตผลและการไถ่ถอน 404,158 ล้านบาท ขาดทุนหรือก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องใช้เงินภาษีไปชำระหนี้ประมาณ 556,507 ล้านบาท
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ธ.ก.ส. เป็นธนาคารเพื่อการเกษตรของรัฐบาลต้องช่วยชาวไร่ชาวนา ก็ต้องไปหาเงินมาทำโครงการนี้ แต่แท้ที่จริง ธ.ก.ส. ถูกรัฐบาลใช้ให้ไปหาเงินกู้มาโดยรัฐบาลสั่งให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้
ส่วนผู้ดำเนินงานโครงการกลับเป็นกระทรวงพาณิชย์ที่มีองค์การคลังสินค้าเป็นหัวหอก แล้วก็เกิดการฉ้อโกงกันมโหฬาร
แล้วเป็นไงครับ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ๊ง มีการสอบสวนแล้วฟ้องศาลอยู่นาน มีรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงติดคุกกันหลายคน เกิดความเสียหายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบถึงประมาณ 556,507 ล้านบาท
หนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมหากาพย์ จึงเกิดขึ้นจำนวนมากมหาศาล ทุกวันนี้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ปีละประมาณ 28,000 ล้านบาท เกือบ 10 ปีมาแล้ว ยังไม่หมดนะครับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 นี้ ยังมียอดหนี้คงค้างอยู่ถึง 173,000 ล้านบาท
และเมื่อนำไปรวมกับยอดหนี้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในผลผลิตด้านเกษตรอื่นๆที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้ ธ.ก.ส. ณ สิ้นธันวาคม 2566 มีจำนวนถึง 619,174 ล้านบาท ซึ่งจะต้องตั้งงบชดเชยไปเรื่อย
นอกจากนี้ ปีหนึ่งๆ รัฐบาลยังต้องตั้งเงินชดเชยเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลสั่งต่างกรรมต่างวาระลักษณะนี้ ให้หน่วยงานที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐอีกหลายแห่งด้วย เช่น ธนาคารออมสิน ธอส. ธนาคาร เอส เอ็ม อี และ บสย. เป็นต้น
ซึ่งรวมกันแล้ว ในสิ้นปีงบประมาณ 2566 มียอดจ่ายเงินชดเชยสะสมซึ่งเป็นภาระผูกพันที่เกิดจากการดำเนินงานตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังสูงถึง 1,004,391 ล้านบาท หรือ 31.5 % ของงบประมาณรายจ่าย และในปีงบประมาณ 2567 นี้ รัฐบาลยังได้ขยายกรอบนี้ให้เป็น 32 % เพื่อรับนโยบายประชานิยมที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น
สรุปได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกยุคทุคสมัย ได้ใช้ธนาคารของรัฐทุกแห่งช่วยประชาชนที่ยากไร้และเปราะบางมากอยู่แล้ว จนรัฐบาลต้องแบกภาระจัดหาเงินมาชดเชยเพิ่มขึ้นทุกปี
แม้จะมีการออก พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังมากำกับควบคุมจนชนเพดานหนี้แล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สนใจกลับจะหาทางสร้างหนี้เพิ่ม แม้ส่วนใหญ่ที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะรีดมาจากงบประมาณปี 2567 คือปีนี้ 175,000 ล้านบาท และงบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท
รวมทั้งหมดที่ไม่ต้องใช้เงินกู้จำนวน 327,700 ล้านบาท หรือประมาณ 9 % ของงบประมาณปี 2567 นั้น ทำเสมือนว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่เหลือ แต่ผมเรียกว่าเป็นเงินที่รีดมาจากงบประมาณ ที่ตั้งกันมาอย่างกระเบียดกระเสียนเต็มที่อยู่แล้ว
แต่โครงการที่ถูกรีดซึ่งเข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นงบโครงการลงทุน ก็จะต้องคอยงบปีหน้าโน้น ซึ่งก็จะเป็นงบประมาณขาดดุลเต็มพิกัดอยู่ดี
ประการที่ 2 การปฏิบัติตามกฎหมายการเงินการคลังของรัฐบาล
คนที่พอจะรู้จักว่า GDP คืออะไร ขยายตัวได้หรือไม่อย่างไร ทุกคนต่างพูดด้วยอาการละเหี่ยใจว่า รัฐบาลนี้คิดได้อย่างไรว่าจะเอาเงินจาก ธ.ก.ส. ไปแจกจ่ายเพื่อช่วยให้ GDP โตขึ้นอย่างมีนัยได้
สำหรับคนที่เป็นนักกฎหมายหรือเป็นนักการเมืองก็ตั้งข้อสงสัยว่า การที่รัฐบาลจะไปเอา ธ.ก.ส. มาเป็นเครื่องมือหาเงินมาช่วยเกื้อหนุนนโยบายของพรรคที่นำรัฐบาลในครั้งนี้ มันตรงกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. หรือไม่อย่างไร
ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติต้นฉบับ พ.ศ. 2509 และทั้งที่มีการแก้ไขในช่วง 58 ปีที่ ธ.ก.ส. ได้ก่อตั้งมาถึง 7 ครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับความจำเป็น มันเข้าตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตรงไหน
อ่านและวิเคราะห์ดูให้ละเอียดเถอะครับว่ามีข้อไหนพอจะนำมาแปลความได้ว่า ธ.ก.ส. สามารถนำเงินของ ธ.ก.ส. หรือ เงินกู้ที่ผ่านมือ ธ.ก.ส.ไปให้รัฐบาลนำไปใช้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้
และใคร่ขอแนะนำว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถูกระบุไว้ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. พ.ศ. 2509 ว่าเป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกกล่าวโทษว่าบกพร่องในเรื่องนี้
และทั้งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ท่านต้องอ่านให้เข้าใจมาตรา 28 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
“การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ........”
ซึ่งหมายความว่าจะเอาเงินของ ธ.ก.ส. ไปใช้เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เท่านั้น
ประการที่ 3 ความเปราะบางด้านการคลังของไทย
นักการเมืองของไทยระยะหลังนี้ดูเหมือนจะไม่รู้ด้านการคลังภาครัฐ หรืออาจรู้แต่ไม่ใส่ใจ แต่ที่แน่ๆคือไม่มีผู้ใดคิดแก้ไขจุดบอดด้านการคลังของไทยที่ชนเพดานหรือหลังพิงกำแพงแทบทุกตัว
ไม่ว่าจะเป็น ด้านหนี้สาธารณะ ด้านงบที่ต้องผูกพันชดเชยตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ด้านงบเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญของบุคลากรภาครัฐ งบสวัสดิการของประชาชนเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
ดูจากเอกสารงบประมาณ ปี 2567 นี้ โดยเฉพาะในงบกลางจำนวนถึง 600,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 17.2 % ของงบประมาณรายจ่ายทั้งปี 3.480 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยเฉพาะในงบกลางนี้มีรายจ่ายถึง 5 รายการล้วนเป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายให้ข้าราชการและลูกจ้าง เช่น เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐและอื่นๆ รวมกันถึง 489,165 ล้านบาท งบรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคม
ซึ่งรวมถึงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า และงบสมทบกองทุนประกันสังคม ประมาณ 495,000 ล้านบาท งบชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 จำนวนประมาณ 81,658 ล้านบาท เป็นต้น
ที่สำคัญที่สุดคือ งบชำระหนี้ภาครัฐ ปีงบประมาณ 2567 นี้ ตั้งไว้ 346,380 ล้านบาท แยกเป็นงบชำระเงินต้น 118,320 ล้านบาท ชำระค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 228,060 ล้านบาท
ดูแล้วเสมือนไม่น่าห่วงเมื่อเทียบกับภาระหนี้ภาครัฐที่มี 9.337 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.38 % ของ GDP แต่จริงๆแล้วน่าห่วงมาก เพราะมีหนี้ภาครัฐที่ครบกำหนดจ่ายคืนมากกว่าที่รัฐบาลชำระหนี้ในแต่ละปีอีกมาก
ทั้งนี้เพราะกระทรวงการคลังได้ใช้วิธีกู้หนี้ใหม่มาชำระคืนหนี้เก่าที่ครบกำหนดต้องชำระปีหนึ่งๆ จำนวนไม่ใช่น้อย ทำให้ยอดชำระหนี้เงินต้นภาครัฐออกมาต่ำ และรัฐบาลก็หลับหูหลับตาปล่อยให้ยอดสะสมของหนี้สาธารณะมีอัตราส่วนสูงขึ้นแบบไม่รู้จบเมื่อเทียบกับ GDP
ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศทุกปี ยังต้องตั้งงบผูกพันงบประมาณข้ามปี หรืองบรายจ่ายผ่อนส่ง ส่วนใหญ่ผ่อนจ่าย 3 ปี ซึ่งปีงบประมาณ 2567 นี้มีจำนวนงบประมาณผูกพันข้ามปีถึงจำนวน 185,756 ล้านบาท เท่ากับ 5.3 % ของงบประมาณรายจ่าย
กระทรวงที่ต้องจัดให้มากเริ่มจากกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 3.480 ล้านล้านบาท ที่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเรียบร้อยแล้วนั้น เมื่อตัดทอนภาระผูกพันทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นผลจากการบริหารด้านการคลังแบบไม่ใส่ใจของแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
จนเหลืองบประมาณที่เป็นเม็ดเงินปลอดภาระผูกพันจริงๆเพียงไม่เกิน 60 % หรือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาทเท่านั้น ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริหารราชการตามที่รัฐบาลต้องทำและสำหรับใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่หดน้อยลงทุกปี (นี่ยังไม่ได้หักเงินที่จะรั่วไหลจากการคอร์รัปชันนะครับ)
ด้วยสถานะการคลังของประเทศที่เปราะบางมากอย่างนี้ หากรัฐบาลยังเห็นว่าพร้อม และไม่ห่วงว่าโครงการ “มหาประชานิยมดิจิทัลวอลเล็ต” นี้ จะทำให้สถานะการคลังของประเทศที่สุดจะเปราะบาง ต้องแตกกระจุยก็เชิญทำไปเลยครับ.