ย้อนรอย 4 รัฐมนตรีคลัง ลาออก เมื่อ 'ขุนคลัง' เจอแรงกดดันเศรษฐกิจ-การเมือง
ย้อนดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย อดีต “ขุนคลัง” ไขก๊อกพ้นเก้าอี้ เจอแรงกดดันการเมือง เศรษฐกิจ เปิดชื่อผู้เคยลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง กฤษฎา – ปรีดี- ปรีดียาธร – อำนวย พบสาเหตุบางคนลาออกเพราะเจอพิษเศรษฐกิจ บางคนลาออกเพราะเจอมรสุมทางการเมือง
ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ใช่ใครก็จะเป็นได้ ยิ่งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอย่าง “กระทรวงการคลัง” รัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัยจะต้องเฟ้นเลือกคนที่มีความเหมาะสม มีความรู้ ความสามารถมานั่งในตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่เก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงนี้ที่ผ่านมาก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมาจากสาเหตทั้งเรื่องแรงกดดันทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง
“กรุงเทพธุรกิจ” พาไปดูการลาออกของ “ขุนคลัง” 4 คนในประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจไทย ที่มาสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และสถานการณ์
1.กฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในตำแหน่ง รมช.คลัง 251 วัน ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.2566 – 9 พ.ค.2567
นายกฤษฎา เป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เป็น รมช.คลังในโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ นายกฤษฎาลาออกจากตำแหน่ง รมช. คลังในวันที่ 8 พ.ค.หลังจากที่ไม่พอใจการแบ่งงานภายในกระทรวงการคลัง เนื่องจากถูกลดบทบาทให้กำกับดูแลหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยบทบาทในยุคเศรษฐา 1 นั้นนายกฤษฎากำกับดูแล กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
และ รัฐวิสาหกิจในสังกัด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม องค์การสุรา การยาสูบแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
แต่ในยุคเศรษฐา 2 ได้มอบหมายให้กำกับดูแล เพียง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ การยาสูบแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) คปภ. และ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เท่านั้น
2.นายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์2 โดยเป็นรมว.คลัง 27 วัน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. – 1 ก.ย.2563
โดยก่อนจะเป็น รมว.คลังนายปรีดีนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน และประธานสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งคณะกรรมการหลายชุด
การลาออกของนายปรีดีจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นนายปรีดีได้ระบุถึง “ปัญหาสุขภาพ” อย่างไรก็ตามมีหลายประเด็นที่สื่อมวลชนได้เขียนถึงสาเหตุการลาออก เช่น ความขัดแย้งกับ รมช.ในกระทรวงในขณะนั้น ปมการพิจารณาเรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้าในการพิจารณา ครม.ที่เจ้าตัวมีข้อกังวลเรื่องนี้ จึงตั้ดสินใจลาออกจากตำแหน่ง
3.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังในหลายรัฐบาล โดยในช่วงสมัย รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดียาธร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระหว่างวันที่ 8 ต.ค. 2549 – 28 ก.พ.2550 โดยการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในครั้งนั้น ม.ร.ว.ปรีดียาธร ยื่นลาออก 28 ก.พ.2550 โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2550
โดยเหตุผลหลักที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้แถลงในการลาออกนั้นคือ ความไม่พอใจในการนำคนจากรัฐบาลที่แล้ว นายสมคิด จาตุศรีพทักษ์ มาทำงาน และระบุว่ามีการดำเนินงานของรัฐมนตรีบางคนที่เอื้อประโยชน์ให้สื่อบางรายเป็นการเฉพาะ
นโยบายสำคัญที่ออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยการสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่ให้ดอกเบี้ย ผลของมาตรการนั้นทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ตกไปมากกว่า 100 จุดในหนึ่งวันและทำให้ต้องมีการพักการซื้อขายชั่วคราว ภายหลังจากการออกมาตรการไม่ถึงหนึ่งวัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยยกเว้น เงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเงินลงทุนในอีกหลายประเภทจนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
4.นายอำนวย วีรวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2 สมัย ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และในสมัยพล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ
ในการดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง สมัยรัฐบาลชวลิตร นายอำนวยดำรงตำแหน่งระหว่าง 29 พ.ย. 2539 – 21 มิ.ย.2540
โดยลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติการณเงินในปี 2540 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ได้ ต่อมารัฐบาลได้มีการแต่งตั้งดร. ทนงพิทยะ เข้ามารับหน้าที่แทน และได้มีการประกาศลดค่าเงินบาทในเดือน ก.ค.ปี 2540 ในที่สุด