‘รัฐบาล’ ดันงบลงทุนฯ 5 แสนล้าน ‘สภาพัฒน์’ ชี้ช่วยหนุนศก.ครึ่งหลังปี 67
สศช.เผยเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังรัฐบาล ชูงบฯลงทุน 5 แสนล้านบาท เร่งเบิกจ่ายสร้างแรงหนุนเศรษฐกิจ ส่วนปี 2568 เตรียมงบฯลงทุนกว่า 9 แสนล้านบาท โดยจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี10% ปีหน้าตั้งงบฯหนุนโครงการในพื้นที่กว่า 1.1 แสนล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ว่าขณะนี้นอกจากนโยบายด้านการส่งออก และการท่องเที่ยวที่รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนอย่างเต็มที่
ยังมีเครื่องยานต์ที่สำคัญเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของงบรายจ่ายลงทุนซึ่งคาดว่าจะมีงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 5.1 แสนล้านบาท โดยมาจากงบลงทุนฯจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่คงเหลือรอเบิกจ่ายซึ่งรวมทั้งงบประมาณในโครงการใหม่และงบผูกพันวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.ปีนี้
อีกส่วนหนึ่งคืองบประมาณรายจ่ายจากงบลงทุนปีงบประมาณ 2568 ที่รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณลงทุนในปี 2568 ไว้กว่า 9 แสนล้านบาท (24%ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มจากปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งไว้ 7.1 แสนล้านบาท) ซึ่งคาดว่างบประมาณในส่วนนี้จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.-ธ.ค.67) ประมาณ 10% เป็นวงเงิน 9,000 - 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายในส่วนของโครงการที่มีความพร้อมทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรอไว้แล้วประมาณ 10%
ทั้งนี้หากรวมกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลจะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก็จะทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้จากแรงส่งของนโยบายภาครัฐ ทั้งนั้นรัฐบาลยังมีการตั้งงบประมาณในการใช้คืนหนี้เงินต้นเงินกู้อีก 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยลดระดับหนี้สาธารณะลงได้บางส่วน
นอกจากนี้ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดในปีงบประมาณ 2568 งบปี 68 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาในพื้นที่มากขึ้น โดยรัฐบาลได้มีการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นในส่วนนี้จากเดิมในปี 2567 มีงบประมาณส่วนนี้อยู่ 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะทำให้เม็ดเงินงบประมาณลงไปในระดับพื้นที่ได้มากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่มากขึ้นด้วย
“ในแต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะมีแผนที่ต้องการงบประมาณ เช่น แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะให้แต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะขออนุมัติมายังส่วนกลางมากขึ้น และคำขอที่จะขอเข้ามาและจัดสรรให้จากงบประมาณในส่วนนี้ และสำนักงบประมาณจะมาดูกับแผนของกระทรวงและแผนของจังหวัด กลุ่มจังหวัด หากตรงกันก็จะจัดเป็นลำดับความสำคัญที่รัฐบาลจะจัดสรรให้”