เปิดวิสัยทัศน์จีไอทีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
จีไอที เปิดแผนทำงานครึ่งปีหลัง เดินหน้าทำ GIT Standard สร้างความมั่นใจผู้บริโภคด้วย Buy With Confidence ของแท้ไม่ปลอม พร้อมเร่งสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอัญมณี มั่นใจทั้งปีส่งออกโต 5-10 %
อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 3ในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศด้วยแล้วก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5.5% ของจีดีพี (แบ่งเป็น ส่งออก 4 แสนล้าน การบริโภคในประเทศประมาณ 6 แสนล้าน)
อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกว่า 8 แสนคนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (78% อยู่ในวงการค้าส่ง-ค้าปลีก และ 20% เป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือและเจียระไนรวมทั้งคนทำงานในเหมือง)
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับราวอันดับที่ 14 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 รองจากสหรัฐ และฮ่องกงโดยสินค้าที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ ทองคำ เครื่องประดับทองแท้ เครื่องประดับเงินแท้และเพชร
สำหรับสถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสแรกของไทยมีมูลค่า 4,115.13 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.28 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วน 5.80% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,513.73 ล้านดอลลาร์ เติบโต 13.36%
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT (จีไอที) กล่าวว่า แม้ภาพรวม มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จะลดลง 0.28% แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
โดยโอกาสมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว นโยบายการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลส่งเสริมธุรกิจค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ความท้าทายมาจากเศรษฐกิจโลกผันผวนจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง
ทั้งนี้จีไอทีมีแผนการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยรวมทั้งการผลักดันการส่งออกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 67 เติบโตได้ 5-10 % โดยจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการอัญมณีและเครื่องประดับ GIT Standardและการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ สำหรับใช้ในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐาน ห้องปฏิบัติการด้านอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยให้มีมาตรฐานเดียวกัน พัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของ โลกตามมติ ครม.
การเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ซื้ออัญมณีอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ผ่านโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ หรือ Buy With Confidence (BWC)เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจเครื่องประดับ SME สู่ตลาดโลก ทั้งนี้ จีไอทีมีข้อแนะนำผู้ประกอบการ ต้องไม่ลืมการโฟกัสในเรื่องสินค้ารักษ์โลกและที่มาสินค้าที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ยกระดับการดำเนินการและการให้บริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม
และในเดือน ก.ย.จะมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair “บางกอกเจมส์ ” ครั้งที่ 70 ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นเวทีการค้าสำคัญของไทยทำให้เกิดการซื้อขายและเจรจาธุรกิจ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดันยอดการส่งออกของไทยได้
อย่างไรก็ตามจีไอทีมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยแฉพาะปัญหาการขาดแรงงานที่มีทักษะจากเดิมที่มีสูงเป็นหลักล้านคน ปัจจุบันเหลือประมาณ 8 แสนคน และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 80% จะอยู่ในกลุ่มผู้ซื้อ-ผู้ขาย มีเพียง 20% ที่เป็นช่างฝีมือ
ถือเป็นเป็นโจทย์ใหญ่ ที่จะต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่ หันมาสนใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น โดยเฉพาะช่างฝีมือทักษะสูง ซึ่งจีไอทีได้เตรียมแผนงานเพื่อ บุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีฯ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาฝึกอบรม ในหลักสูตุรต่างๆเพื่อเพิ่มทักษะทั้งการเป็นช่าง เป็นนักอัญมณี นักวิเคราะห์อัญมณี หรือ ผู้จัดการร้านทอง รวมไปถึงการสร้างศูนย์ฝึกช่างเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอมญมณีและเครื่องประดับไทย
แผนงานเหล่านี้ล้วนเป็นการวางรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้สามารถเดินหน้าท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพื่อสู่เป้าหมายการส่งออกปี 67 โต 5-10 % และเพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก